บริษัทปักกิ่งหลิงคงเทียนซิงเทคโนโลยีของจีนพัฒนาจรวดมีปีกสำหรับใช้ท่องอวกาศและขนส่งเชื่อมจุดต่อจุดด้วยความเร็วสูง จรวดเทคออฟในแนวดิ่ง ดีดตัวเองออกจากปีกร่อนพร้อมจรวดบูทสเตอร์ พอสิ้นสุดการเดินทางก็จะลงจอดแนวดิ่งด้วยขา 3 แกน เทคโนโลยีของจีนทำให้ย่นระยะการเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปนครนิวยอร์กจาก 14 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
การขนส่งทั้งขนส่งคนและสิ่งของแข่งกันแรงครับ บริษัทจีนได้เปรียบตรงที่รัฐบาลมีเป้าหมายชัดและให้การสนับสนุนเอกชนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู บริษัทจีนจึงสามารถสร้างนวัตกรรมการขนส่งได้ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และเรือ นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำมาสร้างทั้งยานพาหนะและถนนหนทางรางรถไฟ อำนวยความสะดวกให้มนุษยชาติได้อย่างคาดไม่ถึง
โทรศัพท์มือถือใช้พลังงานไฟฟ้าที่สะสมในแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน หลายประเทศไม่อนุญาตให้เรือที่ใช้เครื่องยนต์จากพลังงานน้ำมันแล่นในคลองในชุมชน เพราะก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงทำให้บ้านริมฝั่งคลองเกิดความรำคาญ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่สะสมไว้ในแบตเตอรี่เท่านั้น
วันนี้ เครื่องบินโดยสารที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เกิดขึ้นในโลกแล้ว สร้างและทดลองบินสำเร็จเรียบร้อยแล้วโดยบริษัทอีวิเอชั่นของอิสราเอล ชาร์จแบต 30 นาทีบินได้นาน 1 ชั่วโมง ระยะทาง 814 กิโลเมตร ทำความเร็วได้ 250 น็อต หรือ 463 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่บินสำเร็จแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเครื่องบินพาณิชย์ 9 ที่นั่ง
ยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้ากำลังมาแรง นาซาหรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯให้บริษัทจีอีเอวิเอชั่นและบริษัทแม็กนิกซ์พัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าซึ่งจะสำเร็จสมบูรณ์แบบและนำออกมาใช้ได้ใน ค.ศ.2035 โบอิ้งซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐฯก็ให้บริษัทวิสค์แอโร่ผลิตเครื่องบินโดยสารระบบไฟฟ้าอัตโนมัติทั้งลำ ส่วนแอร์บัสซึ่งเป็นบริษัทเครื่องบินฝั่งยุโรปพัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าตั้งแต่ ค.ศ.2010 ไม่ช้าก็จะนำมาใช้ในการขนส่งผู้โดยสารได้จริง
...
บริษัทขนส่งระหว่างประเทศดีเอชแอลสั่งซื้อเครื่องบินที่ใช้ไฟฟ้าของบริษัทอีวิเอชั่นแล้ว 12 ลำ จะส่งมอบได้ใน ค.ศ.2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากดีเอชแอลแล้ว บริษัทสายการบินพาณิชย์เคปไอร่าก็สั่งซื้อฝูงบินไฟฟ้าของบริษัทนี้เพื่อใช้บินให้บริการในเส้นทางการบินที่เชื่อมเมืองในรัฐแมสซาชูเชตส์ของสหรัฐฯในปีหน้า
รัฐบาลบนโลกใบนี้หลายแห่งให้โอกาสบริษัทผลิตยานพาหนะไฟฟ้า นอกจากไม่เก็บภาษีแล้ว ยังมีการให้เงินอุดหนุนสำหรับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา อีกไม่กี่ปีข้างหน้า พลังงานของโลกจะหันไปสู่โหมดไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น การประชุมสิ่งแวดล้อม COP26 ของผู้นำโลกเมื่อปีที่แล้วจะเปลี่ยนวิถีการเดินทางของมนุษย์ไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะหลัก มากกว่า 40 ประเทศลงนามเพื่อยกเลิกการใช้ถ่านหิน แล้วหันไปใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนกว่า ทุกประเทศมุ่งไปสู่การใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์
หลายประเทศกำหนดให้บ้านทุกหลังจะต้องมีแผงโซลาร์เซลล์และปั๊มความร้อนในอนาคตอันใกล้ วัสดุในการก่อสร้างบ้านจะลดการใช้ซีเมนต์และคอนกรีต และหันไปใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ใครที่ปล่อยคาร์บอนจะต้องเสียเงิน ตอนนี้สถาบันการเงิน 450 แห่งซึ่งมีเงินรวมกันแล้วประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,900 ล้านล้านบาท ประกาศสนับสนุนการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสะอาดกันอย่างเอาจริงเอาจัง
ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศหนุนเทคโนโลยีสะอาด แต่รัฐบาลของบางประเทศยังถูกครอบงำด้วยนายทุนที่เป็นเจ้าของบริษัทผลิตยานพาหนะซึ่งต้องใช้พลังงานฟอสซิล เมื่อนักวิชาการออกมาตะโกนก้องร้องให้เปลี่ยนนโยบายไปสนับสนุนพลังงานสะอาด ก็มีผู้คนในรัฐบาลออกมาอรรถาธิบายขยายความบ้าๆบอๆ ล้าสมัย อ้างเหตุความจำเป็นที่เลอะเทอะ
อยากให้รัฐบาลไทยสุดลิ่มทิ่มประตูกับยานพาหนะไฟฟ้า อย่าห่วงรายได้จากภาษีน้ำมันจนเกินไป ถ้าบ้านเมืองเจริญ เศรษฐกิจดี ก็จะมีภาษีหลายอย่างที่เอามาชดเชยกันได้ เรียนย้ำตรงนี้ ว่าเครื่องบินที่กินไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com