ทุกเย็น เมื่อเห็น ผอ.กำพล วัชรพล อยู่ในวงตะกร้อ...ผมก็มักนินทาในใจ มาถึงระดับนี้ ทำไม ผอ.ไม่เล่นกอล์ฟ เหมือนเจ้าสัวอื่น
อ่านหนังสือประวัติ ...ตอนเรียนประถมโรงเรียนวัดดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน ครูฮวด ครูสอนหนังสือปลื้มศิษย์คนนี้มาก ไม่แค่เรียนหนังสือเก่ง ยังเตะตะกร้อเก่ง
ครูฮวดคงจะปลื้มยิ่งกว่านี้ ถ้ารู้ว่า ผอ.เอาวิชาตะกร้อมาใช้ถึงปลายชีวิต
เรื่องกีฬา ผอ.รักตะกร้อ เรื่องบันเทิง ผอ.ชอบลิเก นี่คือวิถีจอมยุทธ์ ที่ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน
27 ธ.ค.ปีที่แล้ว ไทยรัฐเว้นจัดงานวันกำพล วัชรพล ผมเคยเขียนถึงท่านทุกปี ปีนี้ก็พลอยเผลอไม่ได้เขียน นึกขึ้นได้ก็รู้สึกผิด ติดหนี้ทางใจ อยากเขียนถึงท่านให้ได้สักเรื่อง
บังเอิญบ่ายวันพฤหัสฯที่ผ่านมา ดูรายการหนังพาไป ช่องทีวีไทยพีบีเอส สองหนุ่มเขาดั้นด้นไปเที่ยวพม่า... เออ! ยิ่งสถานการณ์ทหารยึดอำนาจ พม่าดูจะเป็นเมืองที่ไกลออกไป ไม่ใช่เมืองใกล้ๆ นึกอยากจะไปก็ได้เหมือนก่อน
เคยดูเรื่องตะกร้อพม่าชินลงมาแล้ว แต่หนนี้ สองหนุ่มเขาเดิน เรื่องลึก...ปูพื้นยั่วใจ ถ้าเอาตะกร้อฝีมือไทยไปเทียบ ตะกร้อไทยเด็กๆไปเลย เป็นงี้ ไปได้ไง!
เรื่องที่รู้ๆ ตะกร้อไทยฝีมือลือลั่น เชือดเฉือนและเอาชัยจากมาเลเซีย คู่ปรับได้ ชนิดหือไม่ขึ้น
ไทยเราเริ่มมาจากตะกร้อวง เตะส่งกันไปมา โชว์ฝีเท้าแต่ละคนแล้วพัฒนาเป็นตะกร้อลอดบ่วง
ปี พ.ศ.2522 ผมมาไทยรัฐใหม่ๆ ยังเห็นคุณปรีชา แม่โขง มือหนึ่งตะกร้อลอดบ่วงไทย เป็นคู่โต้ให้ ผอ.ทุกเย็น
ลีลาตะกร้อลอดบ่วง แต่ละแต้มมากน้อยตามความยากง่ายผมเคยเห็น ผอ.เตะบ่วงหลังขวาเข้าบ่วงมากับตา ยังนึกตอนนั้น ผอ.ท่านเป็นนักตะกร้อตัวจริง
มาถึงตะกร้อข้ามตาข่าย กีฬาอาเชียนปัจจุบัน ที่คนหนุ่มๆเท่านั้นที่เล่นได้ดี คนหนึ่งเตะชงลูกให้โด่ง อีกคนกระโดดตบด้วยหลังเท้า นักกีฬาหลายชาติฝึกแล้วทำได้ แต่ยังไม่เด็ดขาดสะใจแบบไทย
...
สองลีลาตะกร้อที่ว่าเน้นกันที่ความแรงความเร็ว นับกันที่แต้ม วัดผลแพ้ชนะ
แต่เมื่อเป็นชินลงตะกร้อพม่า... เล่นกันหกคน ถึงเวลาหกคนร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว โอกาสเปิดให้คนกลางได้เล่นลีลาตะกร้อ...ใช้ลวดลายได้เต็มที่
หยุดตะกร้อที่คอ ที่หลัง หัวเข่า หน้าขา ฯลฯ จนโน่นแหละ สุดทาง... ก็จะสะบัดให้คนในวง รับช่วง ช้อนลูก เล่นกันต่อ
สองหนุ่ม หนังพาไป เขาพาไปดูมาแล้ว ก็เห็นจริง เออ! ตะกร้อลีลาพม่า เขาแน่จริงๆ
ตะกร้อพม่า...ทุกคน ไม่มุ่งเอาชนะ ไม่ทำแต้ม...เมื่อโอกาสเปิดให้ใครสักคน แสดงลีลาได้ ก็เปิดให้เล่นไป รอจนโอกาสมาถึงตัวเอง
ประเด็นคิด สะดุดใจ นักตะกร้อชินลงพม่า ยอมรับว่าแรกๆก็เล่นๆกันไป ต่อมาได้ใช้ลีลาท่ารำ โขน ละครไทย จากเชลยไทย ที่พม่ากวาดต้อนไป ตอนกรุงศรีอยุธยาแตกเข้าไปผสม
ก็ช่วยให้ชินลงมีลีลาลวดลายซับซ้อนสวยงามมากขึ้น
ผมดูเรื่องตะกร้อ รักพม่าขึ้นมาเป็นกอง คนพม่าโดยทั่วไป หัวใจงดงาม อ่อนโยน เห็นอะไรดีกว่าก็เอาไปใช้
น่าเสียดาย ที่วิญญาณรู้รักสามัคคีในกีฬาชินลง ไม่ได้ซึมซับเข้าหัวใจทหารพม่าไว้เลย
ทหารเขาคงหลงคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองถูก ตัวเองดีแล้วไง ก็พาบ้านเมืองสู่หุบเหวหายนะ
ถึงวันนี้ ทั้งอาเชียน ทั้งโลก ช่วยกันคิดหัวแทบแตก ยังไม่รู้ว่า พม่าจะฟื้นคืนได้เมื่อไร
ข้อดีทหารพม่าก็คงพอมี เป็นแบบอย่างให้ทหารบ้านเมืองข้างเคียงรู้ว่าอย่าเผลอโง่ เผลอบ้าตาม
ระบบทหารพม่าเก่า ทำให้พม่าล้าหลังไทยไปแล้วว่ากันว่าห้าสิบปี ระบบทหารพม่ายุคใหม่ มีคนประชดเข้าหูผมว่า พม่าจะกลับไปสู่ยุคโลกล้านปี.
กิเลน ประลองเชิง