เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมลงหลังจากที่เติบโตเต็มที่ ส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ จนกระทั่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต บางคนมีโปรตีนบางชนิดสูงหรือต่ำโดยธรรมชาติเนื่องจากสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ แต่ในทางกลับกัน ระดับโปรตีนเหล่านี้สามารถส่งผลต่อสุขภาพของแต่ละบุคคลได้
เมื่อเร็วๆนี้ มีงานวิจัยใหม่จากทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ เผยว่า โปรตีนบางชนิดอาจส่งผลต่อกระบวนการชราภาพ หลังรวมผลการศึกษาทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ 6 ฉบับเข้ากับการสูงวัยของมนุษย์ แต่ละฉบับมีข้อมูลทางพันธุกรรมของคนหลายแสนคน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในบรรดาโปรตีน 857 ตัว มีโปรตีนในเลือด 2 ชนิด ที่มีอิทธิพลต่ออายุขัยและสุขภาพของคนเราอย่างมีนัยสำคัญ โปรตีนชนิดแรกคือ apolipoprotein (a) (LPA) สร้างขึ้นในตับ และดูจะมีบทบาทในการจับตัวเป็นลิ่ม ทั้งนี้ LPA ระดับสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดอุดตันด้วยสารที่เป็นไขมัน ส่วนโปรตีนชนิดที่ 2 คือ adhesion molecule 1 (VCAM 1) ส่วนใหญ่พบบนพื้นผิวเซลล์บุผนังหลอดเลือด โปรตีนตัวนี้จะควบคุมการขยายตัวและการหดตัวของหลอดเลือด ทำหน้าที่ในการแข็งตัวของเลือดและการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ระดับของ VCAM 1 จะเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายส่งสัญญาณบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ จากนั้น VCAM 1 จะช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันข้ามผ่านชั้นบุผนังหลอดเลือดไป
นักวิจัยเผยว่า โปรตีนในเลือดอาจเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพดี ดังนั้น การพัฒนายาที่มุ่งเป้าไปที่โปรตีนเหล่านี้อาจเป็นวิธีหนึ่งในการชะลอกระบวนการชรา.
Credit : CCO Public Domain