• สายเคเบิลใต้ทะเลที่ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด ทำให้ชาวตองกานับแสนคนยังคงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และอาจจะต้องกินเวลานานนับเดือนกว่าจะสามารถซ่อมสายเคเบิลใต้ทะเลได้
  • บริษัทซับคอม ผู้ให้บริการสายเคเบิลของสหรัฐอเมริกา คาดอาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซ่อมแซมการเชื่อมต่อสายเคเบิลที่มีความยาวถึง 49,889 กิโลเมตรในแปซิฟิกใต้
  • ขณะนี้มีการติดตั้งระบบไวร์เลส 2G บนเกาะหลักเพื่อใช้งานชั่วคราว โดยใช้จานดาวเทียมจากมหาวิทยาลัยเซาท์แปซิฟิกมาช่วย แต่การให้บริการก็ยังติดขัดเป็นระยะ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ล่าช้า

นับเป็นเวลานานกว่า 10 วันแล้ว ที่เกิดเหตุภูเขาไฟใต้น้ำปะทุและสึนามิซัดเข้าฝั่งตองกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากตองกาจะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิและเถ้าถ่านภูเขาไฟแล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นฟูและกู้ภัยก็คือระบบการสื่อสารที่ได้รับความเสียหายหนัก ทำให้ประเทศตองกายังคงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และอาจจะต้องกินเวลานานนับเดือนกว่าจะสามารถซ่อมสายเคเบิลใต้ทะเลได้

...

กระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ แถลงเมื่อวันพุธที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัท ซับคอม ผู้ให้บริการสายเคเบิลของสหรัฐอเมริกา จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซ่อมแซมการเชื่อมต่อสายเคเบิลที่มีความยาวถึง 49,889 กิโลเมตรในแปซิฟิกใต้

การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล ตามมาด้วยสึนามิ ทำให้ประชาชนชาวตองกามากกว่า 110,000 คนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยขณะนี้บริษัทดิจิเซลผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้ติดตั้งระบบไวร์เลส 2G บนเกาะหลักเพื่อใช้งานชั่วคราว โดยใช้จานดาวเทียมจากมหาวิทยาลัยเซาท์แปซิฟิกมาช่วย แต่การให้บริการก็ยังติดขัดเป็นระยะ มีข้อจำกัด และสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ล่าช้า

จะดำเนินการแก้ไขสายเคเบิลอย่างไร?

แม้การซ่อมสายไฟเบอร์ออปติกบนพื้นดินเป็นงานง่ายสำหรับช่างเทคนิคมีประสบการณ์ แต่การซ่อมสายเคเบิลใต้น้ำมีความซับซ้อนกว่า โดยจะต้องหาตำแหน่งที่สายเคเบิลเสียหายให้ได้เสียก่อน เบื้องต้นบริษัทตองกา เคเบิล ผู้ให้บริการสายเคเบิลที่เสียหาย มีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น หลังจากเหตุภูเขาระเบิด พบว่าน่าจะมีจุดที่สายเคเบิลขาด และใช้การไม่ได้ในรัศมี 37 กิโลเมตร นอกชายฝั่งตองกา ด้านปีเตอร์ เจมี่สัน หัวหน้าวิศวกร ของเวอร์จิน มีเดีย และรองประธานสมาคมสายเคเบิลใต้ทะเลแห่งยุโรป ระบุว่าการซ่อมแซมสายเคเบิลใต้ทะเล ต้องเริ่มด้วยการส่งสัญญาณแสงกะพริบจากฝั่งออกไปตามสายเคเบิล เพื่อวัดระยะเวลาที่แสงวิ่งไป เพื่อหาจุดที่ได้รับความเสียหายอยู่ตรงจุดใด เพื่อนำเรือออกไปที่พิกัดดังกล่าว ก่อนจะนำยานพาหนะใต้น้ำโดยการบังคับจากระยะไกล หรือ ROV เพื่อลงไปใช้ตะขอใต้น้ำเกี่ยวสายเคเบิลขึ้นมาซ่อมแซมความเสียหายบนเรือ โดยทำแบบเดียวกันทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่สายขาด ซึ่งกระบวนการซ่อมแซมสายเคเบิลจะใช้เวลาราวๆ 5-7 วัน


ทำไมต้องใช้เวลาซ่อมแซมนาน?

เหตุผลที่ต้องใช้เวลานานในการซ่อมแซม เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่จะนำเรือสำหรับซ่อมแซมไปถึงตองกา เพราะจุดที่ใกล้ที่สุดที่มีเรือประจำการอยู่คือพอร์ทมอร์สบี้ เมืองหลวงของปาปัวนิวกินี ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 4,700 กิโลเมตร ขณะที่เรือรีไลแอนซ์ เรือชำนาญการพิเศษด้านนี้ประจำการให้บริการอยู่ในระยะกว่า 50,000 กิโลเมตรในแปซิฟิกใต้ โดยผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัยสำหรับเรือและลูกเรือที่จะเข้าไปปฏิบัติงานหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุภูเขาไฟปะทุซ้ำรอย

...

เหตุการณ์สายเคเบิลขาดเกิดขึ้นบ่อยหรือไม่?

มีการประมาณการว่า ทั่วโลกมีรายงานการเข้าซ่อมแซมสายเคเบิลใต้ทะเลมากกว่า 200 ครั้งต่อปี แต่สาเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก โดย 90 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้สายเคเบิลใต้น้ำขาดเสียหายเกิดจากแห หรืออวนของเรือประมง หรือสมอเรือไปเกี่ยวสาย โดยปัจจุบันนี้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีการติดตาม เพื่อให้สะดวกต่อการเตือนภัย หากพบเห็นเรือลำใดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อสายเคเบิล ทางผู้ให้บริการจะได้ติดต่อแจ้งเตือนไปยังเรือดังกล่าวโดยตรง

สายเคเบิลข้อมูลเหล่านี้จะทำมาจาก ไฟเบอร์ ออฟติก เส้นใยแก้ว แต่ส่วนใหญ่ความหนาของสายเคเบิลจะใช้สำหรับปกป้องเส้นใยแก้วได้เท่านั้น โดยสายเคเบิลที่วางใต้น้ำแบบข้ามทวีปมักจะถูกฝังลึกลงไปราว 1-2 เมตร แต่ก็มีไม่น้อยที่มีการติดตั้งสายเคเบิลพาดวางไปตามก้นมหาสมุทรโดยไม่ได้ฝัง เนื่องจากก้นมหาสมุทรในจุดดังกล่าวมีความลึกเกินกว่าที่จะมีใครลงไปสร้างความเสียหายได้ ยกเว้นจากภัยธรรมชาติอย่างที่เกิดขึ้นกับตองกา โดยเมื่อปี 2006 เหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของไต้หวันก็สร้างความเสียหายให้แก่สายเคเบิลเช่นเดียวกัน ทำให้อินเทอร์เน็ต และสัญญาณโทรศัพท์ในภูมิภาคบริเวณนั้นล่มไประยะหนึ่ง

...

สายเคเบิลเหล่านี้สำคัญอย่างไร ?

หากเป็นประเทศในแถบตะวันตก การที่สายเคเบิลเส้นหนึ่งขาดหรือได้รับความเสียหาย อาจจะไม่เกิดปัญหารุนแรง เพราะมีสายเคเบิลที่ยังใช้งานได้อีกหลายเส้น ยกตัวอย่าง อย่างในประเทศอังกฤษ มีสายเคเบิลส่งข้อมูลมากถึงราว 50 เส้นที่ใช้ส่งข้อมูลในประเทศ แต่สำหรับประเทศตองกา มีสายเคเบิลสำหรับใช้งานอยู่เพียงเส้นเดียว ทั้งๆที่ควรจะมีสายเคเบิลอย่างน้อย 2 เส้นเป็นอย่างต่ำ เพื่อเป็นสายสำรอง แต่ข้อจำกัดก็คือการติดตั้งสายเคเบิลมีค่าใช้จ่ายสูง และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือบริษัทอื่นๆยังไม่ให้ความสนใจในการมาลงทุนวางสายเคเบิลที่ประเทศตองกา

ขณะที่มีการประมาณการว่าทั่วโลกมีสายเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลอยู่มากกว่า 430 เส้น คิดเป็นระยะทางรวมราว 1.3 ล้านกิโลเมตร โดยการรับส่งข้อมูลทั่วโลกกว่าร้อยละ 99 ต้องพึ่งเครือข่ายสายเคเบิลใต้น้ำประมาณ 280 เครือข่าย ซึ่งเหตุผลที่สายเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลกลายมาเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของโลกเพราะมีศักยภาพในการส่งข้อมูลมากกว่าดาวเทียมถึง 200 เท่า

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตองกาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยเมื่อปี 2562 สายเคเบิลเคยได้รับเสียหายจากสมอเรือโดยไม่คาดคิด ทำให้ไร้สัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต กระทบต่อประชาชน 100,000 คนของตองกา หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางการจึงลงนามสัญญาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยใช้ดาวเทียมเป็นเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการใช้ดาวเทียมสื่อสาร สูงเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเข้าถึง ยกเว้นภาครัฐ เจ้าหน้าที่และธุรกิจบางส่วนเท่านั้นที่สามารถใช้การได้ และเมื่อเกิดภัยธรรมชาติอย่างเถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมพื้นที่ โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียมก็ไม่สามารถใช้การได้ในหลายพื้นที่เช่นกัน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับตองกานับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ เพื่อให้แต่ละประเทศหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสายเคเบิลใต้น้ำ รวมทั้งหาช่องทางการสื่อสารสำรองเพื่อรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด เพราะการสื่อสารในยามที่เกิดภาวะภัยพิบัติคับขันเช่นนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทวีคูณ.



...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล