สาธารณรัฐคาซัคสถานมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ด้วยขนาด 2.7 ล้านตารางกิโลเมตร เดิมมีเมืองหลวงชื่ออัลมา-อะตา (อัลมาตี) ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา คาซัคสถานเปลี่ยนเมืองหลวงเป็นกรุงนูร์-สุลต่าน

ท่านที่อ่านประวัติคาซัคสถาน ต้องทราบชื่อเดิม ไม่เช่นนั้นจะค้นไม่เจอ ชื่อเดิมของประเทศนี้คือรัฐข่านคาซัค ขยับมาเป็นเขตปกครองตนเองคาซัค ต่อมารวมกับคีร์กีซเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองคีร์กีซ เป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองคาซัค ขยับเป็นสาธารณรัฐคาซัค พ.ศ.2534 หลังจากแยกออกมาจากสหภาพโซเวียต ก็เปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐคาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นประเทศรวย มีน้ำมันมาก มีพรมแดนติดกับทั้งรัสเซีย จีน คีร์กีซ อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ความที่คาซัคสถานติดทั้งจีนและรัสเซีย จึงกลายเป็นประเทศที่อยู่ในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯและพันธมิตร หากได้คาซัคสถานเป็นพวก ก็สามารถล้อมได้ทั้งรัสเซียและจีน

รัสเซียโดนล้อมโดยโอบจากฟินแลนด์ ลงมาเอสโตเนีย ลัตเวีย อูเครน จอร์เจีย ซึ่งทั้งหมดนี้มีพรมแดนติดกับรัสเซียและประกาศตนอยู่ฝ่ายสหรัฐฯชัดเจนแล้ว ซีกตะวันตกของรัสเซียมีเพียงเบลารุสและอาเซอร์ไบจานเท่านั้นที่ยังมั่นคงอยู่กับรัสเซีย

หากสหรัฐฯและตะวันตกได้คาซัคสถานมาเป็นพวกของตน จะทำให้ได้เปรียบหากมีสงครามกับรัสเซียและจีน สหรัฐฯจึงพยายามเข้าคาซัคสถานทุกทาง สิบห้าปีก่อน พ่อผมได้รับชวนไปเดินเล่นเย็นใจไปตามชายแดนคาซัคสถานและคีร์กีซ พบสถานที่และเสาส่งสัญญาณขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอยู่ในเขตคีร์กีซ สอบถามกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ทราบว่าทางรัสเซียเข้ามารื้อทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว

สมัยที่พ่อผมเป็นประธานที่ปรึกษาของบริษัท บาลานซ์ โนว์เล็จ ดีไซน์ จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ปรึกษาให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการศึกษาโอกาสการค้าและการลงทุนในคาซัคสถานเมื่อหลายปีก่อน เราเข้าไปสำรวจประเทศนี้โดยละเอียด พบว่าสถานะทางเศรษฐกิจของคาซัคสถานเข้มแข็งมาก มีรายได้มโหฬารจากน้ำมัน

...

เขตมังกีทาอูของคาซัคสถาน มีเมืองผลิตน้ำมันขนาดใหญ่และได้ปริมาณน้ำมันมากชื่อว่าจานาโอเซน เมืองนี้เคยมีประวัติศาสตร์การหยุดงานประท้วงใน พ.ศ.2554 จากนั้นก็เกิดจลาจลในวันครบรอบ 20 ปีของการประกาศอิสรภาพของคาซัคสถาน ทำให้มีคนตาย 16 คน และบาดเจ็บ 100 คน นี่เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ

เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปครบ 1 ทศวรรษ พอถึงวันที่ 2 มกราคม 2565 ประชาชนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจานาโอเซนก็ลุกขึ้นมาปิดถนน อ้างว่าพวกตนมาประท้วงการขึ้นราคาน้ำมัน เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยไม่มีการวางแผน เพราะชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่มีการปิดถนนในจานาโอเซน ก็มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมืองตามมา ไม่ว่าจะในกรุงนูร์-สุลต่าน อักโทเบ และอัลมาตี ตามด้วยประชาชนคนในเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลดค่าน้ำมัน และให้รัฐบาลลาออก

ประธานาธิบดีฆาเซิม-โฌมาร์ต โตกาเยฟ ลดค่าแอลพีจีตามที่ผู้เรียกร้องต้องการแล้ว แต่การประท้วงก็ไม่จบ แถมยังบานปลายขยายไปยังเมืองอื่นๆ จนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องส่งใบลาออกต่อประธานาธิบดี สำนักข่าวที่ไวในการรายงานสถานการณ์ในครั้งนี้คือรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่ลอนดอนและนิวยอร์ก สร้างความงุนงงสงสัยให้กับฝ่ายรัสเซียและคาซัคสถาน ว่าชั่วพริบตาเดียว ทำไมนักข่าวรอยเตอร์จึงกระจายอยู่ในหลายเมืองทั่วประเทศ ถ้าไม่รู้มาก่อน คุณจะเดินทางเข้ามาทันได้อย่างไร

หลังจากสื่อกระพือโจมโหมข่าว คนจากเมืองต่างๆ ก็ออกมาเผาบ้านเผาเมือง แม้แต่ สนง.นายกเทศมนตรีนครอัลมาตีก็ถูกวางเพลิง สถานที่เก็บอาวุธโดนยึด มีการประท้วงที่สนามบินและยึดเครื่องบิน ใครจะนึกว่าบ้านประธานาธิบดียังโดนปาระเบิดและถูกยิงด้วยไรเฟิล.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com