เอทีแอนด์ที (AT&T) และเวอไรซัน (Verizon) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ประกาศตกลงชะลอการเปิดตัวบริการเครือข่าย 5G ใหม่บนความถี่ C-Band ใกล้สนามบิน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำร้องขอขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) จากความกังวลว่าอาจรบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ผู้ให้บริการทั้ง 2 รายยืนยันเมื่อค่ำวันที่ 3 ม.ค.ว่าได้ตกลงเลื่อนการเปิดใช้งานบริการ 5G ใกล้สนามบิน ตามที่วางแผนไว้เป็นเวลานานในวันที่ 5 ม.ค. เป็นวันที่ 19 ม.ค. หลังจากบรรลุข้อตกลงกับกระทรวงคมนาคม โดยเอทีแอนด์ทียังย้ำว่าความปลอดภัยในการบินและ 5G สามารถอยู่ร่วมกันได้ และมั่นใจว่า

การทำงานร่วมกันและการประเมินทางเทคนิคเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาทุกปัญหาได้ หลังจากทั้ง 2 บริษัทเพิ่งปฏิเสธคำขอของเอฟเอเอเมื่อวันก่อน โดยระบุว่าล่าช้าจากกำหนดเดิมมาแล้ว 30 วัน การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมการบินเตรียมยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (เอฟซีซี) เพื่อไม่ให้มีการเปิดตัวบริการดังกล่าว นอกจากนี้ในจดหมายที่ลงนามร่วมกัน เอทีแอนด์ที และเวอไรซันยังกล่าวว่าจะไม่ให้บริการระบบ 5G ในพื้นที่รอบๆสนามบินเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 5 ก.ค. เพื่อเป็นการป้องกันชั่วคราว ตามแนวทางปฏิบัติที่คล้ายกันในฝรั่งเศส แต่ปฏิเสธที่จะจำกัดการให้บริการ 5G เกินไปจากระยะเวลาดังกล่าว

ก่อนนี้มีรายงานว่า ผู้บริหารของโบอิ้งและ แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก 2 บริษัท ออกมาร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯชะลอการเปิดบริการเครือข่ายโทรศัพท์ 5G ออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยเตือนว่าอาจส่งผลกระทบด้านลบอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมการบิน เพราะอาจรบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบิน ทำให้อุปกรณ์วัดความสูงในห้องนักบินคลาดเคลื่อน ไม่สามารถลงจอดด้วยระบบอัตโนมัติได้อย่างปลอดภัย และยังอ้างข้อมูลการวิจัยที่ระบุว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะส่งผลให้เที่ยวบินโดยสาร 345,000 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า 5,400 เที่ยวบิน ต้องล่าช้า ถูกเลื่อน ปรับเปลี่ยน หรือถูกยกเลิก

...

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมเครือข่ายโทรคมนาคมสหรัฐฯออกมาโต้ว่าระบบ 5G นั้นปลอดภัย และข้อกล่าวอ้างจากอุตสาหกรรมการบินนั้นสร้างความหวาดกลัวและบิดเบือนข้อเท็จจริง ขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากโควิด-19 และอาจสร้างความเสียหายถึงปีละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท)