ชายป่วยอัมพาตในออสเตรเลียกลายเป็นคนแรกของโลก ที่ทวีตข้อความด้วยความคิด หลังจากได้รับการปลูกถ่ายชิปคอมพิวเตอร์ในสมอง

สำนักข่าว อินดีเพนเดนต์ รายงานว่า นายฟิลิป โอคีฟ ชาวออสเตรเลียวัย 62 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) สามารถทวีตข้อความบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ ได้ โดยใช้เพียงความคิดเท่านั้น ผ่านชิปคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกปลูกถ่ายในสมองของเขา ถือเป็นครั้งแรกของโลก

ข้อความดังกล่าวระบุว่า “ไม่จำเป็นต้องใช้แป้นพิมพ์หรือเสียง ผมสร้างทวีตนี้ด้วยเพียงความคิดเท่านั้น” ถูกโพสต์ลงบนบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ของนายโธมัส อ็อกซ์เลย์ ซีอีโอของ ‘ซิงครอน’ (Synchron) บริษัทเทคโนโลยีระบบประสาทซึ่งเป็นผู้พัฒนาชิปตัวนี้ขึ้นมา

หลังจากทวีตข้อความดังกล่าวแล้ว นายโอคีฟ ก็ทวีตข้อความเพิ่มอีก 7 ข้อความ เพื่อตอบคำถามของผู้ใช้ทวิตเตอร์คนอื่นๆ “ผมหวังว่า ผมกำลังปูทางเพื่อให้ผู้คนสามารถทวีตข้อความผ่านความคิดได้” ข้อความล่าสุดของเขาระบุ

ทั้งนี้ ชิปฝังสมองที่เรียกว่า ‘Stentrode’ ถูกปลูกถ่ายให้กับนายโอคีฟในเดือนเมษายน 2563 หลังจากอาการป่วยของเขาทรุดลงจนเขาไม่สามารถทำงาน หรือทำกิจกรรมอิสระอื่นๆ ได้ โดยชิปถูกส่งเข้าไปผ่านหลอดเลือดดำที่คอ หรือ jugular vein และมีสายเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุมสัญญาณภายนอก เพื่อให้สมองมนุษย์สามารถสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อความหรือใช้เสียง

...

อุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้นายโอคีฟสามารถสื่อสารกับครอบครัวได้อีกครั้งผ่านอีเมล และสามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างเกมการ์ด โซลิแตร์ (Solitaire) ได้

“ตอนผมได้ยินเดียวกับเทคโนโลยีนี้ครั้งแรก ผมก็รู้ทันทีว่ามันจะคืนอิสระให้กับผมได้มากแค่ไหน” นายโอคีฟระบุผ่านแถลงการณ์ซึ่งเคยแพร่โดย ซิงครอน “ระบบนี้น่าอัศจรรย์มาก มันเหมือนกับหัดปั่นจักรยาน มันใช้เวลาเพื่อฝึกฝน แต่พอชินแล้วมันจะเป็นธรรมชาติ ตอนนี้ผมแค่คิดว่าอยากจะกดตรงไหนบนจอคอมพิวเตอร์ ผมสามารถเขียนอีเมล, เข้าแอปธนาคาร, ซื้อของ และสามารถส่งข้อความสูงโลกผ่านทวิตเตอร์ได้แล้ว”