• เยอรมนีบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วม 3 พรรคแล้ว หลังจากเจรจากันมานานร่วม 2 เดือน โดยที่นายโอลาฟ ชอลซ์ ได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนที่นางอังเกลา แมร์เคิล

  • โอลาฟ ชอลซ์ ฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง เพื่อเปลี่ยนตัวเองจากการถูกเรียกว่า นักการเมืองเครื่องจักร และไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค จนมาถึงจุดสูงสุดของประเทศ

  • คำถามใหญ่คือ เขาจะสามารถเติมเต็มช่องว่างจากการหายไปของนางแมร์เคิลได้หรือไม่ ท่ามกลางวิกฤติหลายอย่างที่เยอรมนีต้องเผชิญหลังจากนี้

โอลาฟ ชอลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนีวัย 63 ปี จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศในธันวาคมนี้ หลังจากเขาพาพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) คว้าชัยชนะการเลือกตั้งรัฐสภาอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อเดือนกันยายน

ตำแหน่งของนายชอลซ์ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ หลังจากพรรคฝ่ายกลางซ้ายของเขา กับพันธมิตร ได้แก่ พรรคกรีน กับพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) บรรลุข้อตกลงจัดตั้งพรรครัฐบาลผสม 3 ฝ่าย โดยมีพรรค SPD เป็นผู้นำรัฐบาล และนายชอลซ์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่

อดีตนายกเทศมนตรีเมืองฮัมบูร์กผู้นี้ กำลังจะยุติยุคสมัยนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก อังเกลา แมร์เคิล ซึ่งบริหารประเทศมานานถึง 16 ปี โดยเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง เพื่อเปลี่ยนตัวเองจากการถูกเรียกว่า นักการเมืองเครื่องจักร และไม่ได้รับการสนับสนุนในพรรค จนมาถึงจุดสูงสุดของประเทศ ท่ามกลางปัญหามากมายที่ต้องรับมือ

โอลาฟ ชอลซ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี
โอลาฟ ชอลซ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี

...

การเดินทางของนักการเมืองเครื่องจักร

ครั้งหนึ่ง นายชอลซ์เคยถูกนิตยสารชื่อดังของเยอรมนีอย่าง ‘แดร์ ชปีเกล’ นิยามว่าเป็น ‘ศูนย์รวมของความน่าเบื่อในวงการการเมือง’ แต่เขาก็ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ช่วงปี 1970

นายชอลซ์เกิดที่เมืองออสนาบรุค ในเยอรมนีตะวันตก ก่อนจะเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชนของพรรค SPD ในปี 1975 และเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงอย่างสงบหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นรองประธานขบวนการเยาวชนในยุคปี 80 แต่ไม่ถูกเลือกเป็นหัวหน้า เนื่องจากตอนนั้นเขามีแนวคิดเอียงซ้ายมากเกินไป แม้ว่าต่อมาเขาจะเดินสายกลางมากขึ้นก็ตาม

ในปี 1985 นายซอลซ์ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเองขึ้นมา และก้าวเท้าเข้าสู่โลกการเมือง หลังได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาแห่งชาติในปี 1998

แต่นายชอลซ์กลับได้รับฉายาว่า ‘ชอลโซแมต’ (Scholzomat) ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างชื่อของเขา (Scholz) กับคำว่า ‘ออโตแมต’ (Automat) ซึ่งแปลว่า เครื่องจักร จากการวางตัวนิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมา และจากการที่เขาพยายามปกป้องแผนปฏิรูปแรงงานอันอื้อฉาวของนายกรัฐมนตรี แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ตลอดช่วงปี 2002-2004 ด้วย

ตัวนายชอลซ์เองยังยอมรับว่า ฉายานั้นก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพราะเขาเอาแต่ตอบคำถามเดิมๆ ด้วยคำตอบเดิมๆ แต่นายชอลซ์ย้ำว่า เขาหัวเราะบ่อยกว่าที่หลายคนคิดไว้

นายชอลซ์รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมของรัฐบาลแมร์เคิลสมัยที่ 1 ช่วงปี 2007-2009 จากนั้นจึงรับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองฮัมบูร์กในปี 2011 ยาวจนถึงปี 2018 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างสูง ก่อนที่เขาจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบันนี้

นายชอลซ์ เดินไปยังงานแถลงข่าวพร้อมกับเหล่าผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ 24 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
นายชอลซ์ เดินไปยังงานแถลงข่าวพร้อมกับเหล่าผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ 24 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

“บาซูก้า” สู้วิกฤติโควิด-19

ชื่อเสียงของนายชอลซ์พุ่งสูงขึ้นไปอีก หลังจากเขาในฐานะรัฐมนตรีคลัง ระงับกฎหมาย ‘debt brake’ ซึ่งจำกัดการก่อหนี้ใหม่ ให้รัฐบาลกลางออกแพ็กเกจฉุกเฉินมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อรับมือผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และช่วยเหลือแรงงานและธุรกิจเยอรมันให้รอดพ้นวิกฤติไปได้

นายชอลซ์ระบุในตอนนั้นว่า เงินก้อนนี้เปรียบเหมือน ปืนใหญ่บาซูก้า เพื่อทำให้ภารกิจเสร็จสิ้น “เรากำลังใช้อาวุธทุกอย่างที่เรามีเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราแข็งแกร่งพอที่จะก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นายชอลซ์ยืนยันว่า เยอรมนีจะกลับไปใช้นโยบายไม่ก่อหนี้ใหม่อีกครั้งภายในปี 2023 ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อกำหนดในดีลจัดตั้งรัฐบาล 3 พรรคซึ่งเปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาด้วย

...

ก้าวสู่ว่าที่นายกรัฐมนตรี

เดิมทีนั้น นายชอลซ์ซึ่งอยู่กับ SPD มานาน ไม่ได้รับความนิยมในพรรคเป็นพิเศษ เนื่องจากเขามีแนวคิดค่อนไปทางสายอนุรักษนิยมมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาพ่ายแพ้การชิงตำแหน่งประธานพรรคในปี 2019 ทำให้นายแซสเคีย เอสเคิน และนายนอร์แบร์ต วอลเตอร์-บอร์ยานส์ ผู้สัญญาว่าจะทำให้พรรคก้าวเข้าสู่ฝ่ายซ้ายมากขึ้น ได้เป็นประธานร่วมกัน

แต่ในท้ายที่สุด ก็เป็นนายเอสเคินกับนายวอลเตอร์-บอร์ยานส์นี่แหละที่เลือกนายชอลซ์ เป็นผู้แทนพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนสิงหาคมปี 2020 โดยนายชอลซ์เปิดเผยหลังได้รับเลือกว่า เขากับผู้นำของ SPD เริ่มทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทันทีหลังการเลือกตั้งประธานพรรค จนเกิดความเชื่อใจกันถึงขั้นที่ตัวเขาเชื่อว่า ประธานพรรคจะเลือกเขาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งนายชอลซ์ก็ไม่ทำให้พรรคผิดหวัง เขาหาเสียงโดยให้ความเคารพต่อคนชั้นแรงงาน วางภาพลักษณ์ความเป็นนักปฏิบัติและน่าเชื่อถือที่คนสามารถฝากให้ทำหน้าที่สำคัญได้ พาพรรค SPD คว้าชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายนไปอย่างเฉียดฉิว ทั้งที่คะแนนนิยมของพรรคก่อนหน้านั้นอยู่ในจุดเกือบต่ำสุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น ในระหว่างหาเสียงนายชอลซ์ยังแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้เป็นนักการเมืองเครื่องจักรเหมือนแต่ก่อนแล้ว โดยเขามีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย, เป็นมิตร และใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น เขายังเปลี่ยนท่วงท่าและสีหน้าระหว่างพูดด้วย

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีรักษาการ มอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่นายชอลซ์
อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีรักษาการ มอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่นายชอลซ์

...

วิกฤติที่ยังรออยู่

สำหรับเยอรมนี การหายไปของผู้หญิงที่ชื่อ อังเกลา แมร์เคิล ซึ่งเป็นชื่อที่อยู่คู่กับเยอรมนีทั้งในประเทศและเวทีโลกมานานถึง 16 ปีนั้น ถือเป็นรูโหว่ที่ใหญ่มาก ทำให้มีคำถามตามมาว่า นายชอลซ์ จะสามารถเติมเต็มที่ว่างดังกล่าวได้หรือไม่

นอกจากนั้น ทันทีที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนธันวาคม นายชอลซ์จะต้องรับมือกับปัญหามากมาย ทั้งการระบาดที่กลับมาสูงขึ้นของไวรัสโควิด-19, ความตึงเครียดบริเวณชายแดนเบลารุสกับโปแลนด์, การเคลื่อนกำลังพลของรัสเซียบริเวณชายแดนตะวันออกของยูเครน, การเผชิญหน้ากับจีน และสหรัฐฯ ที่พึ่งพาได้น้อยลงต่างจากเมื่อก่อน

หลายฝ่ายมองว่า นายชอลซ์มีความคล้ายกับนางแมร์เคิลหลายอย่างแม้จะมาจากพรรคคู่แข่งกัน โดยเฉพาะชื่อเสียงเรื่องความเป็นนักปฏิบัติและการทำงานร่วมกับระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า ความยืดหยุ่นทางการเมืองเช่นนี้ อาจทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่เหมาะสมที่สุดของรัฐบาล 3 พรรคซึ่งมีแนวคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้

แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่นายชอลซ์จะไม่สามารถรักษาสมดุลของความขัดแย้งในรัฐบาลเอาไว้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งกับการผลักดันนโยบาย และจุดยืนของเยอรมนีในเวทีโลก หากเขามัวสนใจกับความขัดแย้งในประเทศมากเกินไป




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : dwfrance24indianexpress

...