• องค์การอนามัยโลกเตือนว่ายุโรปจะกลับมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอีกครั้ง พร้อมเตือนรัฐบาลหลายประเทศกลับมาประเทศใช้มาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดอีกครั้ง และเร่งยกระดับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เนื่องจากมีวัคซีนอย่างเหลือเฟือแต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่ยอมฉีด 
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจุบันอัตราการการติดเชื้อและเสียชีวิตของประชากรในยุโรปเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างมาก เป็นเพราะวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศแถบยุโรปเริ่มกลับมาประกาศใช้มาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวดอีกครั้ง ตั้งแต่ยกเลิกกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ให้รักษาระยะห่างทางสังคม และกลับมาบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอีกครั้ง 

องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่า ประเทศแถบยุโรปและบางส่วนของเอเชียกลาง รวม 53 ประเทศ ตอนนี้มีสัญญาณโควิดกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง โดยมีผู้ติดเชื้อรวมกันแล้วถึง 78 ล้านราย มากกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าผู้ติดเชื้อในแถบตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน และมากกว่าทุกประเทศในแอฟริการวมกัน 

นายฮานส์ คลู้ก ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปขององค์การอนามัยโลก ระบุว่ายุโรปและเอเชียกลางจะเป็นศูนย์กลางโควิดอีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และหากว่ารัฐบาลแต่ละประเทศไม่เร่งหาทางรับมือก็คาดว่าช่วงฤดูหนาวปีนี้สถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย ก่อนถึงเดือน ก.พ.ปีหน้า จะมีผู้เสียชีวิตในยุโรปเพิ่มอีกกว่า 5 แสนศพ 

...

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สาเหตุที่ยุโรปจะกลับไปสู่จุดเดิมมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การยังมีอยู่ของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ การมาถึงของฤดูหนาว จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครอบคลุมในหลายประเทศ และความหละหลวมของมาตรการด้านสาธารณสุข 

เมื่อช่วงที่สภาพอากาศอบอุ่นในเดือน มิ.ย.-ส.ค. รัฐบาลในหลายประเทศออกมาแสดงความพึงพอใจที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิดลดลง และบอกว่าช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของการแพร่ระบาดได้ยุติลงแล้ว หลายประเทศทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดทางด้านสาธารณสุข ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งมีการรวมตัวในที่สาธารณะอย่างแออัด โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พอเข้าฤดูหนาวผู้คนมักจะเริ่มหันไปทำกิจกรรมในร่ม ในอาคารสถานที่ต่างๆ ที่ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสถานที่กลางแจ้ง และจากข้อมูลทางสถิติประเมินว่า มีความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดจะขยายตัวเป็น 2 เท่าในช่วง 5 เดือนหลังจากรัฐบาลในประเทศต่างๆได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับประชาชน เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สามารถทำให้การติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% ในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบโดส  

สถานการณ์รายประเทศน่าวิตก

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์แพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิตในหลายประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นรุนแรงอีกครั้ง ที่โรมาเนีย ซึ่งมีประชาชนฉีดวัคซีนไปเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร น้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอียู พบว่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 591 ศพในรอบ 24 ชม. 

ที่ฮังการี จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว มาอยู่ที่วันละ 6,268 ราย

ในขณะที่ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละกว่า 4 หมื่นราย เสียชีวิตวันละกว่า 1,100 ศพ อังกฤษมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 3 หมื่นราย เสียชีวิตวันละเกือบ 120 ศพ ส่วนที่ยูเครน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงจนน่าตกใจถึงวันละ 3,800 ศพ ที่โรมาเนีย มีผู้เสียชีวิต 591 ศพในรอบ 24 ชม. หลังจากประเทศเหล่านี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด ให้สวมหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาไปที่สาธารณะอย่างใช้บริการระบบขนส่งมวลชน หรือไปห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล

ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลต้องออกมาประกาศนำคำสั่งสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและรักษาระยะห่างทางสังคมกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งสูง 31%  

โครเอเชีย จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งถึง 6,310 รายภายในวันเดียว สูงสุดเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ที่สโลวะเกีย จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงสุด 2 วันติดต่อกัน เช่นเดัยวกับประเทศเช็ก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะยานขึ้นมาเท่าตัวเลขสูงสุดที่เคยพบเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ 

ทางด้านโปรตุเกส มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ทะลุหลักพันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การระบาดเริ่มบรรเทาลงเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนที่สเปน จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มที่วันละกว่า 2,287 ราย

...

ขณะที่อิตาลี หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุด สำหรับกลุ่มคนท่อายุมากกว่า 12 ปี พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นถึง 16.6% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ 5 พ.ย.64 เยอรมนีมีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 37,000 รายภายในวันเดียว สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด และเป็นตัวเลขสูงสุดทำสถิติใหม่ติดกันเป็นวันที่ 2 โดยอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่กว่า 53% โดยพบว่าอัตราการติดเชื้อต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 192 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 154 ศพในรอบ 24 ชม. เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งตัวเลขสูงสุดอยู่ที่วันละ 121 ศพ

กระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่าการระบาดระลอก 4 จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อระบบสาธารณสุขอีกครั้ง

วัคซีนเหลือเฟือ แต่ผู้คนไม่ยอมฉีด

องค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคยุโรป คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในยุโรปจะเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 5 แสนศพภายใน ก.พ.ปีหน้า โดยโทษกระบวนการฉีดวัคซีนที่ไม่ครอบคลุม และยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชน โดยระบุว่าแทนที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะคอยรับมือปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมโควิด ก็ควรหันมาป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดตั้งแต่แรก อย่างที่สเปน มีประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วประมาณ 80% ส่วนเยอรมนีอยู่ที่เพียง 66% ในตัวเลขยิ่งลดลงอย่างน่าตกใจในแถบยุโรปตะวันออก ขนาดรัสเซียที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิดรายใหญ่ จำนวนคนฉีดวัคซีนครบโดสมีเพียง 32% 

...

จากสถิติระบุว่าในยุโรปมีความเหลื่อมล้ำ แตกต่างในเรื่องการฉีดวัคซีนสูงมาก ที่ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ประชาชนฉีดวัคซีนครบโดดสแล้ว 90% ในขณะที่โรมาเนีย อยู่ที่เพียง 39% และที่บัลแกเรียอยู่ที่ 26% เท่านั้น  

โดยหลายประเทศประชาชนเริ่มมีภูมิคุ้มกันลดลงนับตั้งแต่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้วหรือนานกว่านั้น ขณะที่หลายประเทศอย่างรัสเซีย ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดต่อต้านวัคซีนโควิดเนื่องมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนทางโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ศพต่อวัน

นายเยนส์ ซพาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขของเยอรมนี เตือนว่าจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นที่เข้มงวดสำหรับคนที่ไม่ยอมไปฉีดวัคซีน

...

เริ่มกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง 

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า มีหลายคนเชื่อว่าการแพร่ระบาดหนักได้ยุติลงแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วการป้องกันเลยหละหลวมอย่างมาก รัฐบาลทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. ทั้งที่ยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง 55% ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นราย คิดเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลก  

ขณะที่ลัตเวียเป็นประเทศแรกที่ต้องกลับมาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้ประชาชนออกนอกบ้านได้เฉพาะออกมาซื้อของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ห้ามการออกมาชุมนุมกันในที่สาธารณะ 

ส่วนที่ลัตเวีย ต้องประกาศห้ามคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข้าร่วมกิจกรรม งานอีเวนต์ต่างๆ และให้คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วต้องสวมหน้ากากอนามัยเวลาไปที่สาธารณะ รวมไปถึงในอาคารสถานที่ต่างๆ

และตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) ทางการเนเธอร์แลนด์ประกาศให้ประชาชนต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยเวลาไปในสถานที่สาธารณะ อย่างสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ และต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนก่อนเข้าสถานที่ ทางด้านรัฐบาลเบลเยียม ออกคำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และขอความร่วมมือประชาชนทำงานจากที่บ้าน หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาเพิ่มสูงสุดในรอบปีนี้ 

โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการแพทย์ RKI ในเยอรมนี เตือนว่า หากไม่มีมาตรการเข้มงวดเพียงพอ เยอรมนีจะต้องบอบช้ำจากการระบาดระลอก 4 เนื่องจากในจำนวนผู้ไม่ฉีดวัคซีน มีประชากรที่เป็นวัยชราอายุมากกว่า 60 ปีถึงกว่า 3 ล้านคน คนกลุ่มนี้จัดเป็นความเสี่ยงของระบบสาธารณสุข 

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าอังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติให้ใช้ยาเม็ดต้านโควิด-19 "โมลนูพิราเวียร์" (Molnupiravir) แก่ผู้ที่ผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งปัจจัยที่จะเกิดอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 รุนแรง อย่างเช่น โรคอ้วน คนสูงอายุมากกว่า 60 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ซึ่งอาจเป็นข่าวดีที่ช่วยพลิกสถานการณ์โควิดในขณะนี้ได้

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล  BBC