ผู้นำกลุ่ม จี20 เห็นชอบข้อตกลงประวัติศาสตร์ ที่จะเก็บภาษีกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างต่ำ 15% แล้ว ในการประชุมที่กรุงโรม

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ผู้นำประเทศระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 20 หรือ กลุ่ม จี20 เห็นชอบข้อตกลงประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเก็บภาษีกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่เป็นจำนวนอย่างน้อย 15% แล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ต.ค. 2564 หลังจากเกิดความกังวลมาอย่างยาวนานว่า บริษัทข้ามชาติต่างๆ จะหาทางโยกย้ายผลกำไรของตัวเองไปยังประเทศหรือดินแดนที่มีกฎหมายเก็บภาษีต่ำ

ข้อตกลงภาษีดังกล่าว เสนอโดยสหรัฐฯ ก่อนจะได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชาติ จี20 ทุกคน ในการประชุมที่กรุงโรม และคาดว่าจะมีการรับรองข้อตกลงในวันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค.นี้ โดยมันจะมีผลต่อบริษัทที่มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 2 หมื่นล้านยูโร และมีอัตรากำไร (profit margins) มากกว่า 10%

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้คือช่วงเวลาสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก และจะหยุดความเสียหายถึงรากฐานของการเก็บภาษีนิติบุคคล เธอบอกอีกว่า ธุรกิจสหรัฐฯ และแรงงานจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ แม้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ กลุ่ม จี20 ประกอบด้วย 19 ประเทศ กับสหภาพยุโรป เริ่มประชุมวันแรกจากทั้งหมด 2 วันในวันเสาร์ที่ 30 ต.ค. โดยมีผู้นำประเทศมาเข้าร่วมประชุมที่กรุงโรมเกือบครบทุกคน ยกเว้นประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอล

การประชุมนี้ยังเกิดขึ้นก่อนที่ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสมัยที่ 26 (COP26) จะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโก ในวันจันทร์ที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม จี20 อาจเป็นการกำหนดบรรยากาศของการประชุม COP26 ซึ่งหลายประเทศมีความเป็นต่างกันอย่างมากในเรื่องแผนการสู้โลกร้อน

...