• สควิดเกม (Squid Game) สะท้อนชีวิตของชาวเกาหลีใต้เมื่อประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้ครัวเรือน และมีตัวเลขผู้ถูกฟ้องล้มละลายมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องดิ้นรนหาเงินเอาชีวิตรอดไม่ต่างจากตัวละครในซีรีส์
  •  แม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่กลับไม่มีการช่วยเหลือเมื่อธุรกิจเหล่านี้ไปไม่รอด ซึ่งสควิดเกม ได้กลายเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นการลงทุนที่ผิดพลาด โชคไม่เข้าข้าง ส่วนนักลงทุนที่ธุรกิจไม่เป็นไปตามที่หวังก็ยากที่จะกลับมาตั้งตัวอีกครั้ง 
  • ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ผู้คนทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาที่คล้ายกัน และอาจมองเห็นปัญหาของตนเองในตัวละครไม่มากก็น้อย ซึ่งสควิดเกมนั้นเป็นเหมือนฝันร้าย หรือ ดิสโทเปีย ที่คล้ายคลึงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้


สควิดเกม ซีรีส์จากเกาหลีใต้ได้สร้างปรากฏการณ์ดังเป็นพลุแตก มียอดเข้าชมในเน็ตฟลิกซ์จนขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุด ส่วนคอสตูมของซีรีส์ยังกลายเป็นชุดยอดฮิตของวันฮาโลวีนปีนี้ ซึ่งเรื่องราวของผู้แข่งขัน 456 คน ที่มีหนี้ติดตัวมหาศาล เข้าเล่นเกมเพื่อแข่งชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1,256 ล้านบาท จากกระปุกหมูเพื่อปลดหนี้ ซึ่งตัวละครในเรื่องที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ถูกมองว่าไม่ต่างจากชีวิตจริงของชาวเกาหลีใต้บางส่วนที่ต้องตกอยู่ในกับดักหนี้ เมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนในประเทศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 

ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีประชาชนทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่กลับไม่มีการช่วยเหลือเมื่อธุรกิจเหล่านี้ไปไม่รอด ซึ่งสควิดเกม ได้กลายเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นผู้ที่ลงทุนผิดพลาด โชคไม่เข้าข้าง ทำให้พวกเขาติดอยู่ในวังวนหนี้จนต้องดิ้นรนเล่นเกมชิงเงินรางวัลเพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ

...

นอกจากนี้สควิดเกม ยังแสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ผู้คนทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาที่คล้ายกัน และอาจมองเห็นปัญหาของตนเองในตัวละครไม่มากก็น้อย ซึ่งสควิดเกม นั้นเป็นเหมือนฝันร้าย หรือ ดิสโทเปีย ที่คล้ายคลึงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้

อัตราหนี้ครัวเรือนแซง จีดีพี ของประเทศ


สะท้อนให้เห็นมุมมืดของประเทศเกาหลีใต้ในช่วงเวลาที่ตัวเลขเงินกู้ส่วนบุคคลพุ่งสูง และมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับต้นๆ และมีตัวเลขผู้คนถูกฟ้องล้มละลายมากถึง 50,379 เคสในปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และยังขาดการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมถึงแผนการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดัน ธนาคารเมินเฉยต่อการทำลายประวัติบุคคลล้มละลายที่มีอายุ 5 ปี ขณะที่หนี้ครัวเรือนในเกาหลีใต้นั้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของ จีดีพี ถึงแม้รัฐบาลจะมีการช่วยหลืออยู่บ้าง แต่หลายฝ่ายมองว่าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ที่ฝังรากลึกได้

แม้ว่าเกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศที่มีผู้ทำธุรกิจส่วนตัวหรือเป็นเจ้านายตนเองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นหนึ่งส่วนสี่ของตลาดแรงงาน แต่ผลสำรวจของธนาคารกลางในปี 2560 ชี้ให้เห็นว่า มีเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจที่สามารถอยู่รอดได้ถึง 3 ปี ซึ่งเสียงจากนักลงทุนระบุว่า แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่กลับไม่มีการช่วยเหลือธุรกิจที่ต้องปิดตัวลง ทำให้นักลงทุนที่ธุรกิจไม่เป็นไปตามที่หวังก็ยากที่จะกลับมาตั้งตัวอีกครั้ง ส่วนผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายต้องเผชิญกับข้อห้ามในการทำงานยาวเหยียด

...

นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาหนี้ยังมาพร้อมกับช่องว่างรายได้ที่ขยายใหญ่ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขการตกงานของคนรุ่นใหม่ และราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนพนักงานกินเงินเดือนธรรมดาไม่สามารถเอื้อมถึง เว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน ได้รายงานบสัมภาษณ์ของ อี อิน-ชอล ประธานสถาบันเรียล กู๊ด ที่วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ระบุว่า หนี้สะสมของเกาหลีใต้นั้นแซงหน้าจีดีพี ของประเทศ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ถึงแม้ว่าบุคคลที่เป็นหนี้จะเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นเวลาหนึ่งปีก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ได้ ขณะที่ตัวเลขผู้ที่เผชิญกับปัญหาหนี้สะสมยังพุ่งสูงในอัตราที่รวดเร็ว 

ในปี 2561 สถาบันโซล พบว่า ชาวเกาหลีใต้เป็นหนี้เฉลี่ยราว 44,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน หรือราว 1,455,278 บาท ซึ่งมากกว่าข้อมูลจากธนาคารโลกที่ชี้ว่ารายได้ประชาชาติ หรือ จีเอ็นไอ ต่อหัวที่อยู่ที่ 33,790 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,117,587 บาท ในปี 2562 

ธนาคารปล่อยกู้ง่าย มิลเลเนียลแห่ใช้บัตรเครดิต

รายงานจากเว็บไซต์ อินไซเดอร์ ชี้ว่า การสมัครบัตรเครดิตในเกาหลีใต้นั้นง่ายดาย มีผู้คนแห่ทำบัตรเครดิตในเกาหลีใต้ช่วงปี ค.ศ. 1997 หรือวิกฤติการเงินเอเชีย ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลระงับภาษีบัตรเครดิตเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และมีผู้คนสมัครบัตรเครดิตจำนวนมากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งคนรุ่นมิลเลเนียลติดพฤติกรรมรูดบัตรเครดิตที่มีความสะดวกสบาย ในปี 2019 มีการคาดการณ์ว่าชาวเกาหลีใต้มีบัตรเครดิตเฉลี่ยคนละ 4 ใบ ซึ่งการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายรายบุคคลต่อปี

...

ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่รัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎจำกัดวงเงินกู้นั้นนับว่าเป็นมาตรการที่เดินมาถูกทาง แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ที่ฝังรากลึกในประเทศเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าตัวเลขหนี้ส่วนบุคคลในเกาหลีใต้นั้นจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ ซ้ำเติมด้วยราคาที่อยู่อาศัยที่แพงหูฉีก โดยพบว่าราคาบ้านในกรุงโซลนั้นพุ่งสูงขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดเมืองเทียบกับเมืองใหญ่ในเอเชีย

เสียงจากชาวเกาหลีใต้ที่ติดกับดักหนี้ ไม่ต่างจากตัวละครสควิดเกม

วิกฤติหนี้ทำให้ชาวเกาหลีใต้หลายรายจะรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเหมือนตัวละครในซีรีส์ สควิดเกม ที่มีหนี้หัวโต และต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อใช้หนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานเรื่องราวของ ยู ฮี-ซุก หญิงใกล้วัยเกษียณอายุ 58 ปี ที่เปิดใจว่า ในเกาหลีใต้การที่เป็นผู้มีหนี้ค้างชำระนั้นเปรียบเสมือนโลกทั้งใบของคนคนนั้นได้จบสิ้น แม้ว่าได้จ่ายหนี้ค้างชำระที่ใช้เวลาจ่าย 13 ปี ไปเรียบร้อย แต่ก็ยังมีสายโทรศัพท์โทรขู่ปิดบัญชีเธออยู่ เพราะข้อมูลของเธอได้หลุดไปโดยที่เธอไม่ทราบมาก่อน เธอยังระบุว่าก่อนหน้านี้เธอต้องการที่จะจ่ายหนี้ที่ยืมมา แต่เหมือนว่าธนาคารแทบจะไม่เปิดช่องทางให้สามารถทำเงินได้เลย ให้เธอเหมือนติดอยู่ในกับดักหนี้ไม่ต่างจากตัวละครในสควิดเกมเท่าไหร่นัก แต่ในชีวิตจริงนั้นไม่เหมือนกับในซีรีส์ ที่ตัวละครถูกจับรวมกันบังคับให้เล่นเกม เนื่องจากโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ยังมีโอกาสและทางออกของปัญหาอยู่เสมอ

...

ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์ 

ที่มา: Reuters, The Guardian, Insider