เมื่อวันที่ 15 ต.ค. กลุ่มองค์การ สมาคม ไปจนถึงกลุ่มเคลื่อนไหว 59 แห่งในอังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัทเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ “เฟซบุ๊ก” ของสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทกระทำการใดๆ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น หลังช่วงเดือนที่ผ่านมามีข้อมูลที่บ่งชี้อย่างต่อเนื่องว่า เฟซบุ๊กเลือกผลกำไรบริษัท มากกว่าสิ่งที่เด็กและเยาวชนควรได้รับ
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกถึงนายซักเกอร์เบิร์ก ระบุถึงข้อเรียกร้อง 5 ประการ ครอบคลุมแพลตฟอร์มในเครือบริษัททั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอทส์แอพ โดยประการแรก บริษัทควรแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับผลงานวิจัยของบริษัทว่าแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ดังกล่าว มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กเช่นไร 2.ชี้แจงว่าบริษัทได้มีงานวิจัยใดๆหรือไม่ ที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 3.เผยแพร่แบบประเมินความเสี่ยงที่แพลตฟอร์มมีต่อเด็ก 4.ชี้แจงแบบประเมินผลผลิตภัณฑ์ต่างๆของบริษัท และ 5.ทบทวนว่าระบบการเข้ารหัส การส่งข้อความ มีผลกระทบต่อเด็กมากน้อยเพียงใด
จดหมายดังกล่าวยังระบุว่า ยอมรับไม่ได้อีกที่เฟซบุ๊กมองผลประโยชน์ทางการค้า มากกว่าผลประโยชน์ของเด็ก ทั้งที่เด็กมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และสุขภาพที่ดี แต่ปรากฏว่า เฟซบุ๊กดูเหมือนจะยอมแลกสิ่งเหล่านี้ เพื่ออุ้มชูผลประโยชน์ของผู้ใหญ่และกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ
ต่อมาโฆษกบริษัทเฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะทำให้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในเรื่องความปลอดภัยเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 429,000
ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการสร้างเครื่องมือเพื่อให้เด็กๆใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งมีการแบ่งปันข้อมูลให้กับนักวิชาการและนักวิจัยมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆด้วย
...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า การส่งจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ มีขึ้นหลัง น.ส.ฟรานเซส ฮิวจ์ อดีตผู้จัดการของเฟซบุ๊ก ขึ้นให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงต่อกรณีนำข้อมูลภายในบริษัทมาเปิดเผย โดยเฉพาะเรื่องที่เฟซบุ๊กวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นเพศหญิงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกแย่และไม่พอใจในเรือนร่างของตัวเองยิ่งกว่าเดิม หลังการใช้งานอินสตาแกรม ขณะที่รัฐบาลอังกฤษอยู่ระหว่างร่างกฎหมายความปลอดภัยทางออนไลน์ ซึ่งกำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียมีหน้าที่ในการปกป้องเด็ก จากเนื้อหาที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมาย.