1 ธันวาคม 2561 นางเมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัทหัวเว่ยถูกจับที่ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ขณะกำลังเดินทางจากฮ่องกงไปเม็กซิโกและต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่แคนาดา หลังจากถูกจับ นางเมิ่งก็ถูกนำไปขึ้นศาลแคนาดาข้อหาละเมิดกฎหมายการคว่ำบาตรอิหร่านตามหมายจับสหรัฐฯ และข้อหาอะไรต่อมิอะไรอีกหลายข้อหา ซึ่งสหรัฐฯขอให้ส่งตัวนางเมิ่งในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ

ตอนที่นางเมิ่งถูกจับนั้น เป็นช่วงเริ่มต้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน นำโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การจับกุมนางเมิ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร้าวฉาน และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนตกต่ำย่ำแย่ลงเรื่อยๆ มีความพยายามจากรัฐบาลจีนที่จะช่วยเหลือนางเมิ่งมาโดยตลอด

ถูกกักตัวในบ้านพักที่แวนคูเวอร์นานเกือบ 3 ปี กระทั่ง 24 กันยายน 2564 นางเมิ่งก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากแคนาดากลับจีน หลังบรรลุข้อตกลงใหม่กับอัยการสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การถอนฟ้องคดีฉ้อโกงธนาคาร และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯจะถอนฟ้องทุกข้อกล่าวหา หากนางเมิ่งปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดได้อย่างเคร่งครัดภายในเวลาที่กำหนดหรือภายในเดือนธันวาคม 2565 ระหว่างนี้ก็มีการยื่นเรื่องต่อรัฐบาลแคนาดา เพิกถอนคำร้องขอตัวจำเลยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว

หลังจากที่นางเมิ่งบรรลุข้อตกลงกับอัยการสหรัฐฯและได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากแคนาดากลับจีน 24 กันยายน 2564 วันเดียวกันนั้นเอง นายไมเคิล คอฟริก อดีตนักการทูต และนายไมเคิล สปาวอส์ นักธุรกิจ สัญชาติแคนาดา ที่ถูกจับและดำเนินคดีที่จีน โทษฐานจารกรรม ก็ได้รับการปล่อยตัวและได้เดินทางกลับแคนาดาเช่นกัน

หลายคนมองว่านี่น่าจะเป็นสัญญาณดีที่สหรัฐฯกับจีนตกลงกันได้จนทำให้ปล่อยคนของตนเป็นอิสระ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์นี้อาจทำให้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ดูจากการดำเนินนโยบายของไบเดนแล้ว แกไม่ได้มุ่งทำสงครามการค้า แต่แกอาจจะนำสหรัฐฯลงสนามในสงครามจริงกับจีน

...

เมื่อจะต้องรบ การเปิดศึกหลายสมรภูมิไม่ใช่เรื่องดี ประธานาธิบดีไบเดนจึงต่อสายตรงเจรจากับประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครงของฝรั่งเศส ปรับความสัมพันธ์โดยคุยกันมากมายหลายประเด็น แต่ที่สำคัญคือ สหรัฐฯยอมรับผิดที่เจรจาตกลงกับออสเตรเลียให้ซื้อเรือดำน้ำของตัวเองแทนของฝรั่งเศส โดยที่ไม่ได้มีการหารือกับทางฝรั่งเศสก่อน

ฝรั่งเศสด่าสหรัฐฯเรื่องแทงข้างหลัง ทำให้ออสเตรเลียเทสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศสเรื่องจัดซื้อกองเรือดำน้ำที่มีมูลค่ามากถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วหันไปเลือกกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่จะสร้างโดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯและอังกฤษแทน ฝรั่งเศสฉุนหนักจนถึงขนาดเรียกทูตของตัวเองกลับจากกรุงวอชิงตันและแคนเบอร์ราทันที

หลังจากคุยกันกะหนุงกะหนิง สุดท้ายนายมาครงก็ใจอ่อน ยอมส่งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำที่กรุงวอชิงตันเหมือนเดิม แถมยังมีนัดเจอกันที่ยุโรปในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่จะถึงด้วย

สหรัฐฯเปิดเกมเล่นใหญ่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดยร่วมมือกับออสเตรเลียหลายเรื่อง ไม่เพียงแค่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น ผู้อ่านท่านครับ หลังจากตั้งกลุ่มออคัสได้ไม่ถึงอาทิตย์ โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ก็ประกาศตั้งโรงงานประกอบชิ้นส่วนขั้นตอนสุดท้ายของโดรนรบไร้คนขับ ‘รอยัล วิงแมน’ ที่เมืองทูวูมบา ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย

โดรนรบ ‘รอยัล วิงแมน’ จะปฏิบัติการด้วยระบบเอไอควบคู่ไปกับอากาศยานที่มีคนขับ เป็นโดรนรบรุ่นแรกที่ออกแบบและพัฒนาในออสเตรเลียในรอบ 50 ปี ซึ่งบริษัท โบอิ้ง ดีเฟนซ์ ออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนกับกองทัพอากาศออสเตรเลีย และกำลังพัฒนาอากาศยานอีก 6 รูปแบบไปตามแผนการพัฒนาอากาศยานกองทัพรุ่นใหม่ของออสเตรเลีย

สหรัฐฯอาจกำลังข่มขวัญจีนด้วยการเปิดตัวพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก โชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยให้จีนกลัว

ไม่รู้ว่าจีนจะกลัวหรือเปล่านะครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com