คํ่า 16 กันยายน 64 นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ส่งจดหมายแสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ข้อตกลงที่ครอบคลุมและความก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก Comprehensive and Progressive Agreement for Trans Pacific Partnership (CPTPP)” ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ต่อ นายเดเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีการค้านิวซีแลนด์ซึ่งเป็นผู้เก็บสัญญา หลังจากที่ สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย ประกาศจัดตั้ง “ข้อตกลงด้านความมั่นคง AUKUS” วันที่ 16 กันยายน 64 วันเดียวกัน เพื่อคานอำนาจจีนด้านความมั่นคงและกลาโหม ซึ่งครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โลกไซเบอร์ และเทคโนโลยีควอนตัมที่เป็นเทคโนโลยีอนาคต

เป็นการเปิดสงครามการค้า และ สงครามด้านความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP เป็นข้อตกลงที่ต่อยอดมาจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่มในสมัย ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่ในสมัย ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ถอนตัวออกไป เพื่อสนองนโยบาย America First แต่ 11 ประเทศสมาชิกที่เหลือได้สานต่อเป็นข้อตกลงใหม่ชื่อว่า CPTPP มีการลงนามกันที่ประเทศชิลีเมื่อเดือนมีนาคม 2018

11 ประเทศสมาชิก CPTPP ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม แต่ไม่มี ประเทศไทย มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจ 10.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 13.5% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้า 15% ของการค้าโลก เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก RCEP ที่มีมูลค่าการค้ากว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์ และ ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-แคนาดา-เม็กซิโก ที่มีมูลค่ากว่า 21 ล้านล้านดอลลาร์

...

จีนให้เหตุผลที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ว่า เป็นข้อตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมหลายด้านมากกว่า RCEP และข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ข้อตกลง RCEP (ที่ไทยเป็นสมาชิก) เน้นเอเชียเป็นหลัก แต่ CPTPP มีความครอบคลุมเชิงภูมิศาสตร์มากกว่า ซึ่งเป็นจุดยืนของจีนที่จะเปิดกว้างทางการค้ากับทั่วโลก

ประเทศไทยปีที่แล้ว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีมติให้ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ครม. เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพราะเห็นว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มาก เวียดนาม คู่แข่งของไทยก็สมัครเป็นสมาชิกไปตั้งแต่ปี 2019 แต่ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์ ถอนเรื่องออกจาก ครม. และยืนยันว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้กลับเข้า ครม.อีก โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อกังวลบางประการ จนถึงวันนี้ก็ไม่เคยมีการพิจารณาอีก

เวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP ตั้งแต่ปี 2019 ปีที่แล้วยอดส่งออกพุ่งขึ้นไปกว่า 26.76% เพราะได้เปรียบในเรื่องเขตการค้าเสรี คาดกันว่าอีกไม่นานเวียดนามก็จะแซงไทยด้านการค้าอีกเรื่อง เพราะรัฐบาลเวียดนามมีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก CPTPP แต่ก็ค้าขายกับประเทศสมาชิก CPTPP จำนวนมาก ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ไทยค้าขายกับ CPTPP มากกว่า 1.85 ล้านล้านบาท ส่งออก 962,529 ล้านบาท นำเข้า 889,220 ล้านบาท ถ้าไทยเป็นสมาชิก CPTPP อยู่ในเขตการค้าเสรีแบบเวียดนาม การค้าไทยจะเติบโตขนาดไหน ว่างๆ นายกรัฐมนตรี ลองนำไปคิดดู

แต่การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของจีน ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะมี 2 ประเทศคู่กัดที่จะขัดขวางแน่นอนคือ แคนาดา และ ออสเตรเลีย อาจรวมถึง ญี่ปุ่น ด้วย แต่ที่แน่ๆก็คือ ไทยตกรถอีกตามเคย ในขณะที่ เวียดนาม คู่แข่งของไทย มีรถหลายคันให้เลือกนั่งอย่างสบาย ความฉลาดและวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”