วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่อง ประเทศจีน กันอีกสักวันนะครับ วันก่อนผมเขียนถึงนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน Common Prosperity” ของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจีน ประธานาธิบดีสี ต้องการผลักดันให้ชาวจีนร่วมกันสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่แข่งกับสหรัฐฯ มีเป้าหมายแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แต่ดูเหมือนสังคมคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่จะไม่ตอบรับนโยบายของผู้นำจีนสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็น วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไป หลังจากเผชิญกับความโหดร้ายของไวรัสโควิด-19 คงเพราะเหตุนี้กระมัง ผู้นำจีนจึงผลักดันนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” เพื่อกดดันบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รวยมหาศาล ให้แบ่งปันต่อสังคมมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

วารสาร การเงินธนาคาร ฉบับกันยายน ได้ทำรายงานเรื่อง “วิถีชีวิตจีนรุ่นใหม่ : หมดไฟ” ในคอลัมน์ World Exclusive สะท้อนถึงสังคมคนจีนรุ่นใหม่ที่กำลังท้อแท้หมดไฟสู้กับชีวิต

สังคมคนจีนรุ่นใหม่ แนวคิดและอุดมการณ์เรื่องการสร้างชาติกำลังแผ่วลงจนน่าวิตก ยิ่งไปกว่านั้น คนหนุ่มสาวบางกลุ่มกล้าแสดงออกถึงความคิดนี้ผ่านออนไลน์อย่างเปิดเผย สะท้อนถึงวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่ต้องการกดดันตัวเองอีกแล้ว เช่น ยอมตกงาน หาเงินจากงานจรเล็กๆ น้อยๆ ไปวันๆ กินอาหารแค่ประทังชีวิตวันละ 1-2 มื้อ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ซึ่งกำลังเป็นพลังสำคัญในการสร้างชาติ

รายงานระบุว่า การที่หนุ่มสาวจีนหันหลังให้อุดมการณ์สร้างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความอ่อนล้าเหนื่อยหน่าย โดยเฉพาะ คนระดับกลาง และ ระดับล่าง ซึ่งต้องทนทำงานวันละกว่า 10 ชั่วโมง แต่รายได้กลับไล่ไม่ทันราคาบ้านที่พุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถซื้อบ้านของตัวเองได้ จึงทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกท้อแท้ หมดหวังที่จะสร้างอนาคต อย่างที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ต้องการให้ทุกคนทำงานหนัก เพื่อความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีครอบครัวที่อบอุ่น มีคุณภาพชีวิตที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ แต่ในโลกความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

...

สื่อตะวันตกมองเห็นปรากฏการณ์นี้เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แต่ก็แรงพอที่จะสะเทือนต่อสังคมจีนและผู้นำแดนมังกรไม่น้อย สิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่กำลังโหยหาก็คือ การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยการแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ “นอนแผ่ราบเฉยๆ” แชร์พฤติกรรมผ่านโลกออนไลน์ เสมือนหนึ่งว่าหมดแรงที่จะดิ้นรนต่อสู้อีกต่อไป และพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ

แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อ นาย Luo วัย 31 ปี เคยทำงานที่โรงงานผลิตยางรถยนต์ ต้องยืนทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ทนทำงานอยู่ 7 ปี จึงเปลี่ยนไปทำงานอีกโรงงานหนึ่งในตำแหน่งดีกว่าเดิม แต่ก็ต้องทำงานหนักวันละกว่า 10 ชั่วโมง คืนหนึ่งเขานอนแผ่อย่างหมดแรง และมโนถึงชีวิตที่ควรกำหนดเอง เพื่อหาความสุขทางกายและใจที่แท้จริง เขาตัดสินใจลาออกจากงาน ขี่จักรยานเดินทางท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานกว่า 2 พัน กม. แล้วโพสต์ภาพลงในเน็ต เขาใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ ไม่คิดสะสมเงินทองและสมบัติ ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับทางการจีน ไม่ยอมปล่อยไว้แน่นอน เกรงว่าอาจกลายพันธุ์เป็นประเด็นต่อต้านแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลได้ง่ายๆ จึงมีคำสั่งให้เข้มงวดกับการเผยแพร่แนวคิดนี้ ซึ่งคนจีนรุ่นใหม่เรียกกันว่า Tangping หรือ Lying Flat โดยให้นำออกจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้หมด แต่ถ้าเป็นการแสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์ก็อนุโลมให้บ้าง เพราะไม่ต้องการบีบคั้นคนรุ่นใหม่จนเกินไป

ประธานาธิบดีสี กำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นพลังสำคัญที่จะนำจีนไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในอนาคต เมื่อเร็วๆนี้ ผู้นำจีนได้พูดปลุกเร้าคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่หลายครั้ง ต้องอดทนฟันฝ่าความเหนื่อยยากนี้ไปให้ได้เฉกเช่นบรรพบุรุษ

นี่คือ ความคิดหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ ในอเมริกาก็เกิดปรากฏการณ์ The Great Resignation ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. มีชาวอเมริกันลาออกจากงานถึง 11.5 ล้านคน เพื่อแสวงชีวิตใหม่ที่สามารถทำงานได้อิสระกว่าเดิม แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนก็ต้องติดตามกันต่อไป.

“ลม เปลี่ยนทิศ”