รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพเมื่อ 29 พฤษภาคม 2563 ว่า “วิกฤติโควิด-19 ทำให้เวียดนามโดดเด่นขึ้น (เช่นเดียวกับไทย) องค์การอนามัยโลกประกาศชื่นชมว่าเวียดนามรับมือโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใส...”

“...นักลงทุนต่างชาติกำลังเร่งย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม... การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเดือนเมษายน 2563 ที่เข้าเวียดนามเพิ่มกระฉูดถึงร้อยละ 81...”

“...20 วันแรกของเดือนมกราคม 2563 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาที่เวียดนามเพิ่มถึงร้อยละ 179.5”

ถึงตอนนี้ชักไม่แน่ใจแล้วครับ ว่าความเนื้อหอมของเวียดนามจะยังเหมือนเมื่อก่อนหน้าโควิด-19 ระบาดหนักในเวียดนามหรือเปล่า ตอนนี้นักลงทุนยุโรปในเวียดนามเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นเพราะเวียดนามไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูจาก Worldometers.info โควิด-19 ระบาดในเวียดนามอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 ขณะที่เขียนคอลัมน์รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพ เวียดนามมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในเวลา 24 ชั่วโมงสูงถึง 13,321 คน เสียชีวิต 275 คน (เมื่อ 1 กันยายน 2564 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 803 คน) ร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตและร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ และเส้นกราฟผู้ติดเชื้อลากสูงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

สิ่งที่นักลงทุนยุโรปกังวลที่สุดคือ เวียดนามมีอัตราการผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียงร้อยละ 4.3 ผู้อ่านท่านคง นึกออกนะครับ ว่ามีคนเวียดนามได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแค่ 4.21 ล้านคนจากประชากร 98 ล้านคน นี่เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชีย

หลายประเทศตกม้าตายเพราะการจัดการการระบาดของโควิด-19 เดินมาดีๆก็มาตกหลุม กว่าจะขึ้นจากหลุมนั้น ก็แทบเอาชีวิตไม่รอด จากผลสำรวจความคิดเห็นของสภาหอการค้ายุโรปหรือ EuroCham เดือนกันยายน 2564 พบว่าร้อยละ 18 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากเวียดนามไปประเทศอื่นแล้ว และอีกร้อยละ 16 กำลังพิจารณา

...

ประธานสภาหอการค้ายุโรปแถลงว่าสมาชิกสภาฯ ต้องการแผน การจัดการการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในเวียดนามอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สมาชิกสภาฯมีแนวทางในการวางแผนกลับมาเปิดธุรกิจได้ต่อไป นอกจากนั้น ยังขอให้รัฐบาลเวียดนามผ่อนคลายการเดินทางเพื่อให้นักธุรกิจที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าเวียดนามได้

ตั้งแต่เมษายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคทั่วประเทศ โรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว บริษัทห้างร้านต่างๆต้องหยุดดำเนินการ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงร้อยละ 7.4 จากปีก่อน การส่งออกก็ลดลงร้อยละ 5.4 และยอดค้าปลีกลดลงมากถึงร้อยละ 33.7

นอกจากจะสะบักสะบอมจากการล็อกดาวน์จนทำให้ภาค การผลิตมีปัญหาแล้ว ภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามก็บอบช้ำหนัก เวียดนามเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 18 ล้านคนใน พ.ศ. 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของจีดีพี แต่เมื่อปี พ.ศ. 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเวียดนามเพียง 3.8 ล้านคนเท่านั้น

เวียดนามพยายามฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยจะนำร่องเปิดเกาะฝูก๊วกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ เข้ามาเที่ยวเกาะฝูก๊วกได้ ทั้งทางเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเที่ยวบินพาณิชย์

เกาะฝูก๊วกอยู่ในอ่าวไทย เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ขนาด 574 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากสักซ้า เมืองชายฝั่งของเวียดนาม 115 กิโลเมตร ห่างจากกัมปอตของกัมพูชา 15 กิโลเมตร และห่างจากแหลมฉบังของไทย 540 กิโลเมตร

รัฐบาลเวียดนามพยายามแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ถ้าแก้ไขไม่ได้ ภาพอนาคตที่เวียดนามเคยวาดหวังไว้ อาจเป็นแค่ปราสาททราย สลายหายวับไปกับตา.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com