• อนาคตคนรุ่นใหม่ชาวอัฟกันต้องสลายไปพร้อมๆกัน หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดเมือง ทุกเพศทุกวัยรวมตัวที่สนามบินหวังลี้ภัย แม้รู้ดีว่าที่นั่งบนเครื่องบินอพยพนั้นมีจำนวนจำกัด
  • อินฟลูเอนเซอร์อัฟกันในสหรัฐฯ ช่วยกันใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวช่วยเหลือพี่น้องประเทศบ้านเกิด ในทางกลับกันชาวอัฟกันในอัฟกานิสถานเร่งลบประวัติในสื่อสังคมออนไลน์หวั่นตกเป็นเป้าตาลีบัน ส่วนเฟซบุ๊กเปิดให้ชาวอัฟกันสามารถล็อกบัญชีได้ทันที
  • มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงอัฟกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและการศึกษาของอัฟกานิสถานเรียกร้องให้นานาชาติปกป้องชาวอัฟกัน ซึ่งช่วงเวลานี้ผู้หญิงเป็นกลุ่มเสี่ยงถูกคุกคามมากที่สุด

ภาพของทารกน้อยที่ชาวอัฟกันช่วยกันส่งข้ามรั้วลวดหนามเข้าไปให้ทหารภายในสนามบิน โดยมีทหารอังกฤษรับทารกน้อยเอาไว้ เป็นภาพที่สร้างความหดหู่ให้ผู้ชมทั่วโลก เพราะนั่นหมายความว่าผู้ปกครองของเด็กต้องตัดใจส่งลูกน้อยไปยังต่างประเทศเมื่อมองไม่เห็นอนาคตในบ้านเกิดของตัวเอง จำใจส่งลูกน้อยไปยังสถานที่ที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า แม้ว่าอาจไม่ได้เจอลูกน้อยอีกเลยก็ตาม

...

ส่วนชาวอัฟกันจำนวนมากยังคงล้อมรอบสนามบินด้วยความหวังว่าพวกเขาจะได้ลี้ภัยจากบ้านเกิดที่ถูกครอบงำอีกครั้งโดยกลุ่มตาลีบัน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังออกจากประเทศ ซึ่งด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ชาวอัฟกันบางส่วนมองว่าพวกเขาถูกสหรัฐอเมริกาหักหลัง

ส่วนวัยรุ่นอัฟกันในสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเธอได้เติบโตในสหรัฐฯ ด้วยความรู้สึกผิดที่ต้องรู้ว่ายังมีชาวอัฟกันอีกจำนวนมากต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายในประเทศบ้านเกิด และต้องการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนเฟซบุ๊ก มีนโยบายใหม่ให้ผู้ที่ใช้งานในประเทศอัฟกานิสถานสามารถล็อกบัญชีของตนได้ในทันทีเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของกลุ่มตาลีบัน

คนรุ่นใหม่อัฟกันมองว่าถูกสหรัฐฯ หักหลัง

ด้านอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอัฟกานิสถาน ชี้ว่า การถอนทหารจากอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็วของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนการหักหลังชาวอัฟกานิสถาน ซึ่งในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา และ นาโต ได้ปลูกฝังค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตย แบบตะวันตกให้ชาวอัฟกันร่วมถึงต่อต้านกลุ่มตาลีบัน แต่ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ทอดทิ้งชาวอัฟกันปล่อยให้เผชิญชะตากรรมภายใต้การยึดครองของตาลีบัน 

ผู้ที่สูญเสียมากที่สุดคือชาวอัฟกันรุ่นใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งความหวังว่าอนาคตที่มั่นคงอยู่อีกไม่ไกล โดยสองในสามของจำนวนประชากรอัฟกานิสถานราว 35 ถึง 40 ล้านคนนั้นมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดทันเหตุวินาศกรรม 9/11 ปี 2001 ที่เป็นชนวนให้สหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารเข้าไปยังอัฟกานิสถานขับไล่กลุ่มตาลีบัน

ประชาชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เองที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอัฟกานิสถานให้มีความแตกต่างเปิดกว้างกว่าแต่ก่อน และติดต่อกับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น และมีคนรุ่นใหม่หลายรายที่ได้ทำงานในหน่วยงานรัฐ เป็นผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และนักกฎหมาย แต่ยังคงมีบางส่วนที่ไม่มีงานทำ และต้องมองดูประเทศของตนล่มสลายต่อหน้าต่อตา ชะตากรรมของชาวอัฟกันรุ่นใหม่ที่ยากจนนั้นแตกต่างออกไป พวกเขาไม่ได้ลี้ภัยมุ่งหน้าไปยังตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย แต่ต้องหนีข้ามพรมแดนไปยังอิหร่านเพื่อหางาน ซึ่งประเทศที่ต้องแบกรับผู้ลี้ภัยอัฟกันนั้นเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ปากีสถาน และประเทศในเอเชียกลาง 

อินฟลูเอนเซอร์ใช้โซเชียลมีเดียเรียกร้องช่วยเหลือชาวอัฟกัน 

ชาวอัฟกันอีกกลุ่มที่โชคดีได้ลี้ภัยก่อนที่จะเกิดเหตุตาลีบันยึดเมืองได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ช่วยเหลือชาวอัฟกัน หนึ่งในนั้นคือ คริสตัล หญิงชาวอัฟกันวัย 22 ปี ที่ได้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอ็นบีซี ว่าเธอได้ใช้ได้ใช้ TikTok สื่ออนไลน์ยอดฮิตเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานให้ผู้ติดตามของเธอจำนวน 73,000 คน ขณะที่มีบางส่วนได้วอนขอให้ผู้ติดตามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สมาชิกคองเกรสช่วยเหลือผู้ที่พยายามอพยพ และให้สหรัฐฯ รับผู้ลี้ภัยมากขึ้น 

...

ด้านซาห์รา ฮาชิมี วัย 22 ปี ที่มีผู้ติดตามใน TikTok 3.1 ล้านราย ได้โพสต์วิดีโอ เรียกร้องให้ผู้ชมช่วยเหลือชาวอัฟกานิสถานด้วยการติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นให้รับผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ยังได้อ่านสคริปต์ที่มีใจความว่า "การที่สหรัฐอเมริกาถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน และการกลับมาของกลุ่มตาลีบันเป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องอับอาย หลังจาก 20 ปี ของนโยบายที่ล้มเหลวทำให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยชน สิ่งที่สหรัฐฯ สามารถทำได้ตอนนี้คือให้ที่พักพิงต่อผู้ลี้ภัย"

...

เสียงจากวัยรุ่นอัฟกันในสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเธอได้เติบโตในสหรัฐฯ ด้วยความรู้สึกผิดที่ต้องรู้ว่ายังมีชาวอัฟกันอีกจำนวนมากต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายในประเทศบ้านเกิด และต้องการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันชาวอัฟกานิสถานต้องเร่งลบรูปภาพในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความเชื่อมโยงกับชาติตะวันตก กลุ่มสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลอัฟกานสถาน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายและถูกกลุ่มตาลีบันเพ่งเล็ง 

ส่วนเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ยักใหญ่มีนโยบายใหม่ให้ผู้ที่ใช้งานในประเทศอัฟกานิสถานสามารถล็อกบัญชีของตนได้ในทันที ส่วนกลุ่ม Human Rights First ได้เผยแพร่ข้อความให้ชาวอัฟกันลบประวัติการใช้งานสื่อดิจิทัล

มาลาลา ยูซาฟไซ นักเคลื่อนไหวร้องนานาชาติช่วยเหลือชาวอัฟกัน

มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงอัฟกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ วัย 24 ปี ที่เคยเผชิญกับความรุนแรงจากกลุ่มตาลีบัน โดยเธอได้ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ขณะที่รณรงค์ด้านการศึกษาแก่สตรี แต่สามารถรอดชีวิตมาได้และได้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลือชาวอัฟกานิสถานและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนโดยด่วน ซึ่งสถานการณ์ในอัฟกานิสถานขณะนี้ทำให้เด็กและผู้หญิงตกเป็นอันตราย อีกทั้งยังมีรายงานผู้หญิงถูกสังหารและคุกคามจนไม่กล้าออกจากบ้าน 

...

ส่วนซูฮา หญิงชาวอัฟกานิสถานวัย 32 ปี ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว นิคเคอิ เอเชีย ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเมื่อตาลีบันถูกขับออกไป สตรีในอัฟกานิสถานได้ออกมาเฉลิมฉลองและถอด บูร์กา ผ้าคลุมแบบอิสลามที่ปกปิดร่างกาย และสตรีสามารถเข้ารับการศึกษาได้ โดยตัวเธอเองสามารถเรียนจบการศึกษา และได้รับทุนการศึกษาในประเทศอินเดียจนสามารถทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษหาเลี้ยงครอบครัวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากช่วงรัฐบาลตาลีบัน ที่ผู้หญิงไม่อนุญาตให้ออกความเห็นต่างๆ และไร้ตัวตนในสังคม เมื่อสหรัฐฯถอนทหารออกไปในครั้งนี้ทำให้กลุ่มตาลีบันกลับเข้ายึดครองอีกครั้ง ทำให้สิ่งที่ชาวอัฟกันพยายามสร้างและปรับเปลี่ยนตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้พังทลายลงจนหมดสิ้น.

ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์ (Nattachar K.) 

ที่มา: Nikei, ABC, Aljazeera, Guardian