อียิปต์มีการปกครองอย่างยาวนานโดยกษัตริย์และราชวงศ์ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล รวมแล้วอียิปต์มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 5,000 ปี อียิปต์เป็นปึกแผ่นในสมัยพระเจ้าเมเนส หรือกษัตริย์ฟาโรห์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกษัตริย์องค์แรกของอียิปต์และกษัตริย์องค์แรกของโลก อียิปต์เป็นประเทศที่มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาไม่ขาดสายมากถึง 26 ราชวงศ์

ค.ศ.1882 มีความวุ่นวายในอียิปต์ อังกฤษจึงถือโอกาสส่งกองทหารข้ามคลองสุเอซเข้ามาระงับข้อพิพาท และประกาศว่า เพื่อเห็นแก่ความสงบ อังกฤษจะไม่ขอถอนทหารออกจากอียิปต์ และเมื่อถึง ค.ศ.1914 อังกฤษก็ใช้อำนาจให้อียิปต์เป็นประเทศในอารักขาของตนโดยนิตินัย

อังกฤษยอมให้เอกราชแก่อียิปต์เมื่อ ค.ศ.1922 แต่ยังคงตั้งกองทัพอยู่แถวคลองสุเอซ ในกรุงไคโร เมืองท่าอเล็กซานเดรีย โดยอ้างว่าตนต้องการช่วยและป้องกันความปลอดภัยให้อียิปต์ ประวัติศาสตร์ของอียิปต์เปิดหน้าใหม่ใน ค.ศ.1922 นี่แหละครับ มีการร่างรัฐธรรมนูญ และสุลต่านอาฮาเม็ด ฟูอัด ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าฟูอัดที่ 1

ช่วงการปกครองของพระเจ้าฟูอัดที่ 1 อียิปต์ไม่เคยสุขกายสบายใจ เพราะมีปัญหาพิพาทกับอังกฤษที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์อยู่ตลอดเวลา อังกฤษอยากได้อะไร ก็จับอียิปต์ลงนามในสัญญา และท้ายสัญญามักจะมีข้อความที่ห้ามแก้ไข เช่น สัญญา Anglo-Egyptian Treaty ซึ่งลงนามเมื่อ 26 สิงหาคม 1936 ให้อังกฤษยังคงมีสิทธิตั้งกองกำลังทหารที่คลองสุเอซ อังกฤษบังคับให้เขียนข้อความว่า สัญญานี้จะแก้ไขไม่ได้ไปอีก 20 ปี อียิปต์ต้องทนหวานอมขมกลืน

พระเจ้าฟูอัดที่ 1 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าฟารุคที่ 1 พระราชโอรสก็ขึ้นครองราชย์ ทั้งที่จบการศึกษาจากอังกฤษ แต่พระเจ้าฟารุคที่ 1 ทรงชิงชังการกระทำของอังกฤษและทรงอึดอัดคัดใจในเรื่องที่อังกฤษเข้ามาแสวงหาประโยชน์บนแผ่นดินอียิปต์

...

วันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 1942 เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงไคโร พร้อมทหารอังกฤษอีก 3 คน บุกเข้าไปในพระราชวัง โดยมีรถถังติดปืนตามไปด้วย เข้าไปถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษก็เรียกให้กษัตริย์อียิปต์ลงมารับจดหมายยื่นคำขาดให้กษัตริย์เซ็นรับเลือกเอาข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อ คือ 1.ให้กษัตริย์ถอดนายอาลีมาเฮ และแต่งตั้งนายนาฮาสปาชาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน หรือ 2.ถ้าไม่ถอดนายอาลีมาเฮ กษัตริย์ต้องออกราชบัลลังก์และถูกเนรเทศ

การบังคับอียิปต์ของอังกฤษน่าจะทำโดยกลุ่มประเทศ เพราะยังมีทหารของนิวซีแลนด์อีก 2 กองคอยอยู่นอกประตูพระราชวัง กษัตริย์อียิปต์รับซองคำขาดออกอ่าน และหันไปหยิบปากกาหมึกซึมเซ็นยอมจำนนในข้อที่ 1 โดยไม่มีข้อแม้ ประชาชนคนอียิปต์เสียใจกันทั้งประเทศที่กษัตริย์แห่งอียิปต์ถูกหลู่พระเกียรติอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกษัตริย์ในฐานะผู้เป็นจอมทัพก็ลดลงไปอย่างมาก

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้นายทหารตัวเล็กๆ ที่ชื่อร้อยเอกมุฮัมมัด นะญีบ เก็บความอึดอัดไว้ในใจ หลังจากนั้น ทหารอังกฤษ ทหารอเมริกันก็เดินขวักไขว่ไปมากันเต็มประเทศ พวกทหารชั้นผู้น้อยที่แรงด้วยความรักชาติเริ่มคิดเรื่องการทำปฏิวัติมีการตั้งสมาคม Moslem Brotherhood ที่มาประชุมกันและให้ลงมติว่า จะเลือกข้อไหนระหว่าง 1.ความปลอดภัยของชาติหรือ 2.กษัตริย์ฟารุค นายทหารชั้นผู้น้อยที่อยู่ในที่ประชุมในวันนั้น ต่างยกมือเลือกจะรักษาความปลอดภัยของชาติและทิ้งกษัตริย์ฟารุคทั้งสิ้น

ต่อมามีความไม่สงบเกิดขึ้นแถวคลองสุเอซ ผู้บัญชาการอังกฤษในคลองสุเอซโทรศัพท์ไปหารัฐมนตรีมหาดไทยของอียิปต์ สั่งให้ปลดอาวุธตำรวจอียิปต์ทั้งหมดและให้ออกไปจากคลองสุเอซ ถ้าไม่ออกไป ที่ตั้งกองตำรวจอียิปต์ทุกแห่งจะต้องถูกทำลาย

รัฐมนตรีมหาดไทยของอียิปต์รักชาติมากกว่าตำแหน่ง แทนที่จะสั่งให้ออก กลับมีคำสั่งไปยังตำรวจอียิปต์ทุกคนในบริเวณคลองสุเอซว่า ขอให้ต้านอังกฤษจนกระสุนนัดสุดท้าย

พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com