- ปากีสถาน รายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน ซึ่งมีความสามารถแพร่กระจายได้เร็วและหลบภูมิคุ้มกันได้ เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียใต้
- ผลวิจัยขั้นต้นชี้ว่า ไวรัสเอปซิลอน แพร่กระจายเร็วกว่าเชื้อสายพันธุ์ก่อนถึง 20% แทบไม่ต่างจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกอยู่ตอนนี้
- ไวรัสเอปซิลอน ยังทำให้วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาทุกชนิดบนโลกตอนนี้ มีประสิทธิภาพลดลง แม้แต่วัคซีน mRNA ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่สุดก็ไม่เว้น
ตอนนี้ทั่วโลก กำลังพยายามรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้การติดต่อเกิดได้ง่ายขึ้น จนหลายประเทศ แม้แต่ชาติที่รับมือการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีมาตลอดอย่าง อิสราเอล และ จีน มีจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้พวกเขาต้องหวนกลับไปใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง
แต่ในขณะที่คนกำลังให้ความสนใจกับโควิดเดลตา กลับมีไวรัสโคโรนากลายพันธุ์อีกสายพันธุ์หนึ่ง แพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ อย่างเงียบๆ มันคือ โควิดสายพันธุ์ ‘เอปซิลอน’ ซึ่งผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า มันสามารถติดต่อสู่คนได้ง่ายดายน้องๆ สายพันธุ์เดลตา และยังสามารถทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันที่เราใช้กันอยู่ลดน้อยลงด้วย
เดิมทีโควิดเอปซิลอนแพร่กระจายเป็นหลักในสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้มันถูกตรวจพบใน 35 ประเทศทั่วโลกแล้ว และมันปรากฏในเอเชียใต้เป็นครั้งแรกเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ปากีสถาน ซึ่งจู่ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็พุ่งพรวดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เอปซิลอน อาจมีส่วนในเรื่องนี้ และมันอาจกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ในภูมิภาคเอเชีย
...
รู้จักโควิดสายพันธุ์เอปซิลอน
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ เอปซิลอน แยกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยคือ ‘B.1.427’ กับ ‘B.1.429’ โดยสายพันธุ์ B.1.427 เกิดจากการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามของไวรัส ในตำแหน่ง L452R ส่วนสายพันธุ์ B.1.429 พบการกลายพันธุ์ถึง 5 ตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่ง L452R ด้วย
ไวรัสชนิดนี้ยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ ‘CAL.20C’ เนื่องจากมันถูกพบเป็นครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งผลการจำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ประกาศให้เชื้อชนิดนี้เป็น ไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ก่อนจะปรับลดลงมาเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of Interest) เพราะสัดส่วนผู้ติดเชื้อลดลง
อย่างไรก็ตาม โควิดเอปซิลอน กระจายไปในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเชื่อกันว่าประชาชนติดเชื้อไวรัสเอปซิลอนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสายพันธุ์เดลตา ก่อนที่มันจะแพร่ออกไปนอกประเทศ จนในปัจจุบันถูกพบแล้วใน 34 ชาติทั่วโลก ไม่รวมสหรัฐฯ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศในวันที่ 6 ก.ค. ว่าโควิดเอปซิลอนเป็นเชื้อที่ต้องได้รับการสังเกตการณ์เพิ่มเติม
เอปซิลอนต้านวัคซีน
ผลการวิจัยขั้นต้นของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า โควิดเอปซิลอนมีการต้านทานวัคซีนทุกชนิดที่มีใช้อยู่ในตอนนี้ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามถึง 3 ตำแหน่ง ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงมากที่สุดถึง 70% ติดต่อได้ง่ายกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 20% แทบไม่ต่างจากโควิดเดลตา
นอกจากนั้น การกลายพันธุ์ดังกล่าวยังทำให้ เอปซิลอน สามารถหลบภูมิคุ้มกันโมโนโคลนที่ใช้ในการทดลองได้อย่างสิ้นเชิง หมายความว่ามันอาจสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วได้
ขณะที่ผลการวิจัยอีกฉบับ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ‘Science’ เมื่อ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบตัวอย่างเลือดของผู้ได้รับวัคซีน mRNA ของบริษัท โมเดอร์นา กับ ไฟเซอร์ จำนวน 30 คน พบว่า วัคซีน mRNA ของบริษัท โมเดอร์นา มีประสิทธิภาพต้านทานไวรัสเอปซิลอนลดลงถึง 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่มีต่อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง G614 เช่น โควิดเดลตา ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพลดลง 2.3 เท่า
อย่างไรก็ตาม ดร.จัสมิน พลัมเมอร์ จากศูนย์การแพทย์ ซีดาร์ส-ไซนาย กล่าวว่า การวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นการทดลองในห้องแล็บที่มีการจัดแจงสถานการณ์อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ในชีวิตจริง ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีการป้องกันที่มากกว่าแค่แอนติบอดี และวัคซีนยังสามารถลดความเสี่ยงจากไวรัสได้
...
โผล่เอเชียใต้ครั้งแรก
สำนักงานสุขภาพขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิของรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถาน ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อ 1 ส.ค. ว่า พวกเขาตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ ‘เอปซิลอน’ (Epsilon) จำนวน 5 รายในเมืองลาฮอร์ จากการตรวจตัวอย่างจากบุคคลต้องสงสัย 23 คน
ประเทศปากีสถาน กำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 3 ของไวรัสโควิด-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เข้าสู่เดือนกรกฎาคม จากพบผู้ติดเชื้อวันละไม่ถึง 1,000 ราย ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 4,000 คนแล้ว ทำให้ทางการต้องประกาศล็อกดาวน์หลายพันที่ในรัฐสินดห์ รวมถึงเมืองการาจี ระงับบริการขนส่งสาธารณข้ามเมือง
แต่การมาของโควิดเอปซิลอน อาจซ้ำเติมสถานการณ์ในปากีสถาน เนื่องจากความสามารถในการแพร่ระบาด และหลบภูมิคุ้มกันของมัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่า เชื้อตัวนี้อาจจุดชนวนการระบาดระลอกที่ 4 ในปากีสถาน เพราะชาติเอเชียใต้แห่งนี้ มีประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบแล้วเพียง 2.1% เท่านั้น
และหากเอปซิลอนแพร่ออกจากปากีสถานสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินเดีย หายนะครั้งใหม่ก็อาจบังเกิดขึ้น เพราะอินเดียเพิ่งผ่านพ้นการระบาดระลอกที่ 2 อันหฤโหด ซึ่งผลักดันโดยไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ไปทั่วโลก จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วยังต่ำเพียง 8% การมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ความร้ายกาจพอๆ กันเข้ามา อาจทำให้พวกเขารับมือไม่ไหว
ผู้เขียน : H2O
ที่มา : abc7, indiatoday, science
กราฟิก : sathit chuephanngam
...