ผลวิจัยใหม่ชี้ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับไวรัสโควิดสายพันธ์ุเดลตา
เว็บไซต์ของนิตยสาร ฟอร์บส์ รายงานว่า ผลการศึกษาจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พบว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทฉีดเข็มเดียว มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อลดลงอย่างมาก เมื่อเผชิญกับไวรัสสายพันธ์ุเดลตา ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสายพันธ์ุหลักในการระบาดทั่วโลก
การศึกษาดังกล่าวยังไม่ผ่านการ ‘peer review’ หรือการตรวจทานผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ โดยมีพื้นฐานจากผลการทดสอบตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา
ผลการศึกษาที่ออกมาพบประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุเดลตาของวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ที่ราว 33% เท่าๆ กับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียว ที่มีการวิจัยก่อนหน้านี้ โดยวัคซีนทั้งสองผลิตด้วยการใช้อะดีโนไวรัสเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผลการทดสอบทางคลินิกของวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พบว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุดั้งเดิมประมาณ 66% ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ซึ่งต้องฉีด 2 เข็ม มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% โดยนายนาธาเนียล แลนโด ผู้นำการวิจัยล่าสุดกล่าวว่า วัคซีนจอห์นสันฯ อาจมีประสิทธิภาพมากกว่านี้หากฉีดโดสที่ 2 เพิ่ม
อีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยศรีชัยวรเทนปุระ ร่วมกับสภาเทศบาลกรุงโคลอมโบ ของศรีลังกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยผลการวิจัยใหม่ซึ่งพบว่า วัคซีน ‘BBIBP-CorV’ ของบริษัท ซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพป้องกันวัคซีนโควิด-19 สายพันธ์ุเดลตา ลดลงจากสายพันธ์ุดั้งเดิมถึง 1.38 เท่า
...
นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า วัคซีน BBIBP-CorV สร้างแอนติบอดีลดลงถึง 10 เท่าเมื่อเผชิญกับไวรัสสายพันธ์ุเบตา ที่พบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และพวกเขาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ของระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนกับผู้ที่ได้ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสองสายพันธ์ุตามธรรมชาติด้วย