เอาแล้วไง ตอนแรกก็ทำเป็นกระดี๊กระด๊าดีใจกันใหญ่ ที่ประเทศของตนเองออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ ถึงตอนนี้ก็เริ่มได้รับผลกระทบกันแล้ว สมัยที่ยังอยู่ในสหภาพยุโรปซึ่งมีการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี คนจากอังกฤษไปทำงานในประเทศบนภาคพื้นทวีปได้ คนจากประเทศภาคพื้นทวีปก็เข้ามาทำงานในอังกฤษได้ โดยเฉพาะงานประเภทที่ต้องใช้แรงงาน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษอาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารตามซุปเปอร์มาร์เกต การที่ประเทศออกจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิตทำให้ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งจำนวนที่ขาดแคลนในตอนนี้มีมากถึง 1 แสนคน
ความไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ทำให้การเข้าและออกจากอังกฤษมีความยุ่งยาก และมีความเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องศุลกากร ทำให้ไม่มีคนอยากขับรถขนส่งสินค้าเข้า-ออกอังกฤษ
อังกฤษเดือดร้อน แต่ประเทศสมาชิกอื่นไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สเปน โปรตุเกส ฯลฯ ไม่ได้เดือดร้อนด้วย ประชากร 450 ล้านคนของ 27 ประเทศเป็นตลาดใหญ่พอเพียงในการทำมาค้าขายกันภายในโดยไม่มีปัญหา แต่ประชากร 67 ล้านคนของอังกฤษมีความยุ่งยากมากขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น และมีคนทำงานน้อยลง
ประธานสมาคมขนส่งสินค้าทางถนนของอังกฤษที่มีชื่อว่านายริชาร์ด เบอร์เนตต์ออกมาบ่นแล้วว่า อาหารไม่มาส่งซุปเปอร์มาร์เกตตามกำหนด แม้แต่ซุปเปอร์มาร์เกตยักษ์ใหญ่ของอังกฤษอย่างเทสโก เซนส์เบอรีส์ แอสดา และมอร์ริสันส์ ที่แต่เดิมมีสินค้าจากสหภาพยุโรปมาส่งตรงเวลา ตอนนี้ก็ร้องโหยหวนว่า พวกตนอาจจะไม่มีอาหารขาย พวกตัวแทนอุตสาหกรรมซุปเปอร์มาร์เกตก็ไปบากหน้าขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ให้ออกวีซ่าทำงานชั่วคราวให้กับพวกขับรถบรรทุกหน่อย
อยู่โดดเดี่ยวได้ไม่กี่วัน อังกฤษก็รู้ว่าตนได้รับผลกระทบแรง จึงต้องวิ่งหากลุ่มใหม่เพื่อจะขอเข้าไปอยู่ รัฐบาลชุดนี้ที่เคยแอ็กอาร์ตประกาศว่าตัวเองทำเบร็กซิตได้สำเร็จ เริ่มประกาศเดินหน้าขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่เรารู้จักกันในนาม CPTPP แต่การเจรจาก็จะยุ่งยากพอสมควร เพราะตัวเองเป็นประเทศใหม่ที่จะขอไปอยู่ร่วมชายคากับ CPTPP ก็ต้องวิ่งเจรจากับสมาชิกทีละประเทศมากถึง 11 ประเทศ
...
อังกฤษหลายคนบ่นเสียดายสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ได้รับจาก 27 ประเทศตอนที่ยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ สิ้นสุดลงไปตามความจบสิ้นของข้อตกลงการค้าที่จบไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2563
เมื่อก่อน เมื่อพูดถึงสหราชอาณาจักร เรารู้สึกว่าประเทศนี้ยิ่งใหญ่ มีสถานะเป็นถึงอดีตมหาอำนาจโลก แถมยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปัจจุบัน อังกฤษไม่ได้เป็นมหาอำนาจโลกแล้ว แถมความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็ไม่มีอีก เขียนอย่างไม่เกรงใจนะครับว่า อังกฤษมีสถานะกระจอกงอกง่อยลงไปเยอะ นี่ถ้าวันหนึ่งต้องไปเจรจากับจีน ใครเห็นภาพท่านั่งของนายกรัฐมนตรีอังกฤษกับประธานาธิบดีจีนก็คงจะรู้ว่าบารมีและอำนาจต่างกัน
ตอนที่จะแยกจากสหภาพยุโรป คนอังกฤษมีความเห็นแตกต่างกัน พวกหนึ่งยังอยากอยู่ อีกพวกหนึ่งอยากออก พอถึงวันลงประชามติ มีคนอังกฤษเห็นด้วยที่จะออกจากอียู 17 ล้านคน (ร้อยละ 51.89) พวกที่อยากให้อยู่กับอียูมี 16 ล้านคน (ร้อยละ 48.11) ถึงตอนนี้ พวกที่โหวตให้ออก ก็อาจจะมานั่งเสียดายที่ตัวเองดันไปเชื่อนักการเมืองที่อยากจะออกจากอียูในตอนนั้น
พอแพ้ประชามติเมื่อ 23 มิถุนายน 2559 นายคาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ลาออกวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 นางเมย์ก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นักการเมืองที่รณรงค์ประชามติให้อังกฤษออกจากอียูเดินไปไหนใน พ.ศ. 2559 มีแต่คนปรบมือต้อนรับ
แต่พอปีนี้ พ.ศ.2564 อาหารอาจจะมีไม่พอ การเดินไปไหนมาไหนก็คงจะต้องระวังตัว เพราะอาจจะโดนไข่เน่าปาหัวก็ได้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com