พ.ศ.2544 มีการประชุมของ 35 ประเทศ ที่กรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ข้อใหญ่ใจความของการประชุมก็คือ การให้อากาศยานสอดแนมไม่ติดอาวุธของทั้ง 35 ประเทศนี้สามารถบินเข้าน่านฟ้าของกันและกันเพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล และถ่ายภาพ อันเป็นการยกระดับความร่วมมือทางทหาร ข่าวกรอง และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระดับพหุภาคีภายในกลุ่ม
ประชุมเสร็จแล้วก็มีการลงนามและความร่วมมือนั้นก็มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2545 เหตุการณ์ดำเนินไปตามปกติ ความร่วมมือนี้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับทั้ง 35 ประเทศ จนกระทั่งถึงยุคทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนจะหมดวาระ ทรัมป์ให้สหรัฐฯประกาศถอนตัวจากการร่วมสนธิสัญญาว่าด้วยการเปิดน่านฟ้า
เมื่อไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมาชิกทั้ง 34 ประเทศก็หวังว่าสหรัฐฯจะกลับเข้ามาร่วมในสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้าเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจจะมีการเจรจาตอนที่ไบเดนกับปูตินจะพบกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ทว่าก่อนจะเจอกัน ไบเดนก็ทำให้สถานการณ์กระอักกระอ่วน ด้วยการให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯแจ้งปูตินว่า สหรัฐฯไม่ต้องการจะเข้ามาสู่กรอบความร่วมมือการเปิดน่านฟ้าอีกแล้ว ดังนั้น การพบเจอกันก็อย่าให้มีหัวข้อการพูดคุยในเรื่องความร่วมมือนี้อีก
ปูตินเองก็ไม่ใช่คนขี้ง้อ เมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกจากสนธิสัญญาต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะอยู่ไม่ได้ รัสเซียเป็นมหาอำนาจชาติใหญ่ ไม่ต้องง้อใครอยู่แล้ว ไอ้พวกที่ต้องง้อก็เป็นชาติเล็กประเทศน้อย พวกกระจิริดกระจ้อยร่อยทั้งหลาย
11 พฤษภาคม 2564 ปูตินจึงยื่นคำร้องต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาอนุมัติการถอนตัวของรัสเซียจากการเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยการเปิดน่านฟ้า สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบตามที่ปูตินเสนอ จากนั้น วุฒิสภารัสเซียก็เห็นชอบซ้ำอีกครั้ง กฎหมายออกจากสภาเมื่อ 7 มิถุนายน 2564 ปูตินก็หยิบปากกามาเซ็นแกร๊ก กฎหมายก็จะมีผลอย่างเป็นทางการอีก 6 เดือนข้างหน้า
...
การอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก สถานะและศักดิ์ศรีของประเทศไม่เท่ากัน ประชาชนซึ่งมาจากประเทศต่างกันก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่ผู้คนจากประเทศเล็กถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
จึงจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือที่มีการลงนามโดยผู้นำรัฐและมีผลบังคับใช้ ความร่วมมือในระดับพหุภาคีสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและประชาชนของประเทศเล็กกระจิริดกระจ้อยร่อย
ตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แกนำสหรัฐฯให้ถอนตัวจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศหลายองค์กร ทำให้โลกตกอยู่ในความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ประเทศเล็กเองก็ตกอยู่ในความหวาดกลัว และเกรงว่าจะถูกประเทศใหญ่รังแก ความหวังของประเทศเล็กชาติน้อยอยู่ที่รัสเซียและจีน ไม่มีสหรัฐฯไม่เป็นไร แต่ขอให้มีรัสเซียและจีนร่วมอยู่ด้วยก็ยังพอไหว การที่รัสเซียถอนตัว ทำให้สนธิสัญญาต่างๆเบาโหวงเหวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญาว่าด้วยการเปิดน่านฟ้า ซึ่งไม่มีทั้งสหรัฐฯและรัสเซีย
แม้จะมีมติ แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถจะบังคับประเทศใหญ่ได้ เช่น การโจมตีอิรักของสหรัฐฯและพันธมิตรเมื่อ พ.ศ.2546 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรสหรัฐฯและพันธมิตรได้
โลกตั้งความหวังกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน เป็นสมาชิกถาวร ถ้าชาติใหญ่ทั้ง 5 เห็นพ้องต้องกัน ก็สามารถบังคับชาติอื่นได้ แต่ถ้ามีชาติใดชาติหนึ่งไม่เห็นด้วยหรือวีโต ก็ไม่สามารถบังคับอะไรได้
เริ่มจากทรัมป์ ที่ทำให้โลกเข้าสู่ความวุ่นวายในขณะนี้ ความหวังที่จะทำให้โลกสงบสุขขึ้นเมื่อไบเดนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน ก็ดูแล้วเลือนราง ทุกอย่างเดอะเซม เหมือนกัน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com