การรณรงค์เพื่อให้ชาวโลกเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อสัปดาห์ก่อน โจเซฟ บอเรลล์ รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ให้ความเห็นผ่านข้อเขียนมาว่า สิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีประชากรเพียงร้อยละ 2.1 ของชาวแอฟริกันทั้งหมด ที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรก

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่กำลังพัฒนาในการเข้าถึงวัคซีน เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่นายเทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เรียกว่า “การแบ่งแยกคนด้วยวัคซีน” (Vaccination apartheid) การระบาดใหญ่นี้ยังคงคร่าชีวิตผู้คนวันละหลายพันคน และเมื่อดูจากอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบันแล้ว ประชาชนทั่วโลกไม่อาจได้รับวัคซีนกันครบทุกคนก่อนปี 2566 อย่างไรก็ดี การที่ประชาชนทั่วโลกได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึง เป็นหนทางเดียวที่เราจะยุติการระบาดครั้งนี้ได้ ไม่เช่นนั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจทำลายประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามีในปัจจุบันได้

การฉีดวัคซีนยังเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นในการยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆที่ขวางกั้นเศรษฐกิจและอิสรภาพ มาตรการจำกัดเหล่านี้เป็นเสมือนบทลงโทษของทั้งโลก แต่ผลกระทบที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับจากมาตรการเหล่านั้นจะหนักหน่วงกว่า ทั้งนี้เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถพึ่งพากลไกทางสังคมและออกนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อจำกัดผลกระทบของการระบาดต่อประชากรของตนได้อย่างยืดหยุ่นกว่า

ถ้ายังคงปล่อยให้การเข้าถึงวัคซีนเป็นไปโดยปราศจากความเสมอภาค ความก้าวหน้าในการบรรเทาปัญหายากจนและความเหลื่อมล้ำที่โลกได้บรรลุในหลายทศวรรษผ่านมาก็จะเสื่อมถอย พลวัตในแง่ลบเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มความตึงเครียดในภูมิศาสตร์การเมืองโลก

...

ผลกระทบจากการนิ่งเฉยในสถานการณ์เช่นนี้สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ย่อมเทียบเป็นมูลค่าสูงกว่างบประมาณที่เราสามารถร่วมกันออกในการช่วยมอบการฉีดวัคซีนให้กับคนทั่วโลก ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงยินดีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอแผนเพื่อใช้งบประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ในการจัดหาวัคซีนให้กับประชากรร้อยละ 40 ของโลกภายในปี 2564 และเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายในกลางปี 2565

ในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ เราต้องมีการประสานความร่วมมือแบบพหุภาคีที่แน่นแฟ้น เราต้องต้านทานภัยคุกคามของ “การทูตวัคซีน” ซึ่งโยงการสรรหาวัคซีนเข้ากับจุดประสงค์ทางการเมือง และ “ลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีน” ที่ต้องการสงวนวัคซีนไว้ให้คนในชาติเท่านั้น สหภาพยุโรปได้คัดค้านแนวคิดทั้งสองนี้ และขณะเดียวกัน ยังคงส่งออกวัคซีน 240 ล้านโดสให้ 90 ประเทศ และมีส่วนร่วมสำคัญในการแจกจ่ายวัคซีนแก่ประเทศยากจน.