• ข้อเสนอคว่ำบาตรจากบริษัทเอกชนในพม่านำโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ Total และ Chevron เพื่อเป็นการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าตามแนวทางของสหภาพยุโรปและรัฐบาลสหรัฐฯ
  • การคว่ำบาตรของบริษัทเอกชนเหล่านี้ เช่น ไม่จ่ายเงินปันผล ย้ายสำนักงานออกจากประเทศ ทิ้งหุ้น จะทำให้ธุรกิจของกองทัพและบรรดานายพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องสูญรายได้มหาศาล
  • แต่รายงานของหอการค้ายุโรปในพม่าให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การถอนธุรกิจจากพม่าอาจไม่ได้ส่งผลร้ายต่อรัฐบาลทหารมากเท่ากับประชาชนทั่วไป


บริษัทขนส่งแก๊ส เมาะตะมะ ของพม่าประกาศว่าได้ยุติการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้การรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงในพม่าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ นับถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 828 ราย อีก 5,441 คนถูกจับกุมคุมขัง และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงเมื่อไร

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของยักษ์ใหญ่วงการปิโตรเลียม ไม่เพียงแต่ทำให้บรรดานายพลที่คุมอำนาจอยู่ในพม่าขาดรายได้ แต่บริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจกับกองทัพพม่าเกิดคำถามสำคัญในทางศีลธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไรกับวิกฤติการเมืองในประเทศที่ทหารปกครองอย่างพม่า

คว่ำบาตรพม่าก็เสียประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ครั้นดำเนินงานต่อไปตามปกติ ก็ดูจะกลายเป็นบริษัทที่ไร้รับความผิดชอบ หากินบนหยดเลือดและหยาดน้ำตาของชาวพม่าอย่างไม่ละอาย

การตัดสินใจของบริษัทขนส่งแก๊สเมาะตะมะ มีผลทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทอันได้แก่ Total แห่งฝรั่งเศส (31.24 เปอร์เซ็นต์) Chevron ของสหรัฐฯ (28.26 เปอร์เซ็นต์) บริษัทผลิตและสำรวจปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) ของไทย (25.5 เปอร์เซ็นต์) และที่สำคัญ Myanmar Oil and Gas Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิหาสกิจพม่า (15 เปอร์เซ็นต์) จะไม่ได้รับเงินปันผลตามสัดส่วนที่ควรจะได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอร่วมของผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายคือ Total และ Chevron เพื่อเป็นการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าตามแนวทางของสหภาพยุโรปและรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วน ปตท. ของไทยพลอยติดร่างแหไปด้วย แม้ว่าไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนนักเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าก็ตาม

และประเทศไทยซึ่งซื้อแก๊สที่ส่งผ่านท่อของบริษัทเมาะตะมะ จะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะ Total ผู้ผลิตแก๊สในแหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะของพม่า รับประกันว่าจะยังผลิตแก๊สส่งให้ไทยต่อไป

บริษัทเมาะตะมะขนส่งแก๊สไม่ได้ประกาศว่า รัฐวิสาหกิจพม่าจะขาดรายได้จากเงินปันผลไปเท่าใด แต่ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยกันออกมา บริษัทนี้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น 872.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2017-2019 ถ้าคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นบริษัท Myanmar Oil and Gas ควรจะได้รับปันผลประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยปีละ 43.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากผลประกอบการไม่ผันผวนจนเกินไป แปลว่าปีนี้รัฐบาลทหารพม่าน่าจะขาดรายได้ไปด้วยตัวเลขใกล้เคียงกัน

ความจริงมีบริษัทต่างประเทศจำนวนมากที่ประกาศชะลอ หรือยุติการดำเนินธุรกิจกับวิสาหกิจของทหารและรัฐบาลพม่า นับแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ก็ประกาศให้บริษัทต่างๆ ยุติการดำเนินธุรกิจร่วมกับรัฐบาลหรือกองทัพพม่า และให้เสียภาษีกับรัฐบาลเงา

นายแพทย์ซาซา รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือสากลและโฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ประกาศว่า เมื่อรัฐบาลนี้เปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทยแล้ว ให้บรรดาบริษัทเอกชนทั้งหลายโอนเงินภาษีเข้าบัญชีนี้ เพื่อรัฐบาลเงาจะนำไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนที่โดนกองทัพพม่าข่มเหงรังแกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทเอกชนจะตัดสินใจได้ง่ายกว่าภาครัฐในการแสดงจุดยืนต่อการรัฐประหารของพม่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินการได้ง่ายๆ เหมือนดีดนิ้วมือ เช่น บริษัท Kirin ของญี่ปุ่นที่ประกาศก่อนใครเพื่อนว่าจะยุติธุรกิจกับกองทัพ แต่อาจต้องใช้เวลาเป็นปีในการเจรจาซื้อหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์จากบริษัท Myanmar Economic Holdings ของกองทัพพม่า เพื่อดำเนินธุรกิจในพม่าต่อไปฝ่ายเดียว แต่ถ้า Myanmar Economic ไม่ยอมขาย Kirin อาจต้องตัดสินใจทิ้งหุ้นทั้งหมด และถอนตัวจากพม่า ซึ่งไม่เพียงทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ แต่อาจโดนเบี้ยปรับเพราะผิดสัญญาได้

...

รายงานของหอการค้ายุโรปในพม่าให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การถอนธุรกิจจากพม่าอาจไม่ได้ส่งผลร้ายต่อรัฐบาลทหารมากเท่ากับประชาชนทั่วไป

อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นตัวอย่างที่ดี การส่งออกสิ่งทอของพม่าเติบโตอย่างมากในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา จากมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 เป็น 4,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 หรือโตมากกว่า 500 เท่า

ก่อนสถานการณ์โควิด-19 อุตสาหกรรมนี้จ้างงานในพม่ากว่า 700,000 ตำแหน่ง ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจสิ่งทอในพม่าดำเนินการโดยนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด มีแค่ 2-3 บริษัทเท่านั้นที่ทำธุรกิจกับกองทัพ จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลกำไรของธุรกิจนี้ไปตกอยู่ในมือนายพลพม่าน้อยมาก

ดังนั้น หากต้องยุติการลงทุนในพม่า หรืองดการส่งออกเพื่อเป็นการลงโทษรัฐบาลทหาร น่ากลัวว่าคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือคนงาน (ส่วนใหญ่เป็นหญิง) ไม่ใช่พวกนายพลทั้งหลาย ที่ดูเหมือนจะมีความเป็นอยู่สุขสบายกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งโรงทอ

ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่าก็กดดันบริษัททั้งภายในและต่างชาติให้ดำเนินธุรกิจต่อไป หรือบังคับให้พนักงานที่ผละงานเข้าร่วมการประท้วงกลับเข้าทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ทั้งยังคุยว่ามีการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ๆ อีกมาก ทำให้บริษัทจากหลายประเทศ ยังลังเลอยู่ว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อสถานการณ์ในพม่า ส่วนใหญ่ได้แต่รอดู แต่ยากที่จะบอกว่าการตัดสินใจของพวกเขาต้องแขวนอยู่ในสภาพนี้อีกนานเท่าใด