การตัด “ท่อน้ำเลี้ยง” เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบีบคั้นที่มีประสิทธิภาพ เสมือนกับการตัดเสบียงการส่งกำลังบำรุงในการทำศึกสงคราม

เหมือนกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในการประกาศคว่ำบาตรบริษัท “เมียนมา เจ็มส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์” หรือ MGE รัฐวิสาหกิจของเมียนมาซึ่งเป็นผู้ควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับอัญมณีทั้งหมด ที่ขณะนี้ตกอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหารนับตั้งแต่เหตุรัฐประหาร 1 ก.พ.

โดยอังกฤษระบุจุดประสงค์ว่า การคว่ำ บาตรบริษัท MGE โดยตรง ถือเป็นการตัดเงินทุนสนับสนุนเผด็จการทหารซึ่งยังคงบ่อน ทำลายประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นเหตุในการใช้ความรุนแรงปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชนเมียนมา รวมถึงการสังหารเด็กและเยาวชน

การคว่ำบาตรได้มีผลบังคับใช้ทันที และถือเป็นการคว่ำบาตรครั้งแรกนับตั้งแต่อังกฤษเสนอกฎการคว่ำบาตรเมียนมาฉบับใหม่ต่อรัฐสภาเมื่อ 29 เม.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการมุ่งตัดท่อน้ำเลี้ยงเงินทุนสนับสนุนเพื่อกดดันให้เผด็จการทหารเลิกยึดอำนาจโดยทันที

สำหรับการระงับทรัพย์สินซึ่งเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรนั้น จะป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปข้องเกี่ยวกับทุนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร ซึ่งผู้ถูกคว่ำบาตรเป็นเจ้าของหรือควบคุมอยู่ นอกจากนี้ ยังปิดกั้นไม่ให้ผู้อื่นสามารถมอบทุนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจแก่บุคคลหรือองค์กรที่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งในกรณีนี้คือ MGE

...

เมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตทับทิมและหยกรายใหญ่ที่สุดในโลก และการค้าหยกถือเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 31,000 ล้าน บาท) หรือมากกว่านั้น

ดังนั้น การตัดท่อน้ำเลี้ยงทางด้านอัญมณี อาจถือว่าเป็นการเล่นงานได้ถูกจุด ทว่าเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ว่า ผลกระทบจะมากน้อยเพียงใด เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลทหารเมียนมายุคก่อนเคยอยู่ใต้ภาวะการถูกรุมคว่ำบาตรมานานระดับทศวรรษ และผลลัพธ์คือประเทศพัฒนาล้าหลัง แต่โครงสร้างอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่

จึงสมควรที่จะมีการตั้งคำถามกันเสียที วิธีแบบเดิมๆของชาติตะวันตกใช้ได้ผลจริงหรือไม่ และที่ผ่านมาก็คนในประเทศที่ถูกคว่ำบาตรนั่นแหละ ที่สุดท้ายต้องมาเปลี่ยนตัวเองแก้ไขกันเอง จึงจะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้.

ตุ๊ ปากเกร็ด