• องค์กรเอกราชคะฉิ่นก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1961 และครั้งหนึ่งเคยร่วมกับกองทัพพม่าสู้กับอังกฤษ แต่กลับถูกเลือกปฏิบัติจากผู้นำเชื้อสายพม่า จึงแยกตัวออกไปสร้าง ‘กองทัพเอกราชคะฉิ่น’ เพื่อทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพม่า
  • ปัจจัยหลัก 2 ประการที่ขับดันให้ชาวคะฉิ่นเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง คือ อัตลักษณ์ศาสนา และดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากร
  • องค์การเอกราชคะฉิ่นก็ปฏิเสธร่วมลงนามในสัญญาสงบศึก ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้การนำของทหาร หรือพลเรือน เหตุผลคือ กระบวนการสันติภาพของรัฐบาลทั้งสองแบบไม่มีความแตกต่างกัน

ข่าวที่กองทัพเอกราชคะฉิ่นยิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพพม่า หรือตัดมาดอว์ (Tatmadaw) ตกที่เมืองโมมอก รัฐคะฉิ่น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ได้เปิดให้โลกเห็นถึงแสนยานุภาพของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่อันดับสองของประเทศ ว่าอาจจะสามารถทำให้สงครามเชื้อชาติในพม่ายืดเยื้อต่อไปได้อีกยาวนาน หลังต่อสู้กันมากว่าครึ่งศตวรรษ

ไม่มีรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์ของตัดมาดอว์ที่ถูกยิงตกนั้นเป็นรุ่นใด มีรายงานข่าวบางกระแสว่า นักรบของคะฉิ่นใช้จรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า (Man-portable Air Defense System) หรือในวงการรู้จักกันดีว่า แมนแพด (MANPAD) อาจจะเป็นรุ่น เอฟเอ็น 6 (Fei Nu 6) ผลิตในจีน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในหมู่พันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ที่ตัดมาดอว์เคยยึดได้เมื่อปลายปี 2019

ความจริงเฮลิคอปเตอร์อาจถูกยิงตกด้วยจรวดอาร์พีจีก็ได้ หรือกระสุนปืนเล็ก ซึ่งโดนที่สำคัญก็อาจทำให้มันตกได้ แต่ถ้ารายงานข่าวนี้เป็นจริง ก็หมายความว่า แผนการของตัดมาดอว์ที่จะโชว์อำนาจการโจมตีทางอากาศเพื่อข่มขวัญกองกำลังชาติพันธุ์ที่ประกาศเคียงข้างผู้ประท้วงการรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย กำลังถูกท้าทายอย่างหนักและอาจจะล้มเหลวก็เป็นได้

การต่อสู้เพื่อสิทธิอัตวินิจฉัยของชาวคะฉิ่นมีรากเหง้าคล้ายๆ กับของชาวกะเหรี่ยง เพียงแต่องค์กรเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization: KIO) องค์กรแม่ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น ก่อตั้งขึ้นทีหลังโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่เป็นชาวคะฉิ่น 7 คน เมื่อเดือนตุลาคม 1960

หากนับอย่างเป็นทางการ องค์กรเอกราชคะฉิ่นถือว่าก่อตั้งเมื่อมีการประชุมสภาเอกราชคะฉิ่นครั้งแรกที่เมืองล่าเซี่ยว รัฐฉาน เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 1961 ซึ่งต่อมาถือเป็นวันปฏิวัติคะฉิ่น เพราะมีการประกาศเรียกร้องเอกราช และนักรบคะฉิ่นที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมกับกองทัพพม่าต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ แต่กลับถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากผู้นำเชื้อสายพม่า จึงแยกตัวออกไปสร้าง ‘กองทัพเอกราชคะฉิ่น’ เพื่อทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพม่า

ปัจจัยหลัก 2 ประการที่ขับดันให้ชาวคะฉิ่นเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง คือ อัตลักษณ์และดินแดน

เรื่องอัตลักษณ์เกิดขึ้นในสมัย อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรี (1960-1962) ที่พยายามใช้ศาสนาพุทธเป็นหลักในการสร้างอัตลักษณ์และอุดมการณ์ของชาติ ซึ่งก็ขัดแย้งกับชาวคะฉิ่น ซึ่งนับถือคริสต์มาตั้งแต่สมัยปกครองโดยอังกฤษ

ต่อมาเมื่อ อู นุ หมดอำนาจ ก็เกิดปัญหาในเรื่องดินแดน เพราะรัฐคะฉิ่นเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากร เฉพาะอัญมณีอย่างหยกนั้นเป็นที่ขึ้นชื่อและหมายปองของคนภายนอกมานานแล้ว

คะฉิ่นได้ชื่อว่าเป็นรัฐก็จริง แต่คนปกครองนั้นเป็นชาวพม่าที่ถืออำนาจจากส่วนกลาง สมัย นายพลเน วิน (1962-1988) ที่ยึดอำนาจจาก อู นุ ได้ทำความตกลงเรื่องปักปันเขตแดนกับจีน ยกดินแดนบางส่วนให้เป็นของจีน โดยที่ชาวคะฉิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ เลย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวคะฉิ่นอย่างมาก เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน

กองทัพเอกราชคะฉิ่นจับอาวุธต่อสู้กับตัดมาดอว์อย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1961 จนถึงปี 1994 รวมแล้ว 33 ปี เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงสงบศึกกับรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกตัน ฉ่วย ถือเป็นกลุ่มที่สองต่อจากว้า (ซึ่งหยุดยิงในปี 1989) ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาล โดยยอมรับสิทธิประโยชน์ในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองหยกและอื่นๆ เพื่อแลกกับการหยุดยิง (มีรายงานว่าสัญญากับกลุ่มอื่นๆ เช่น โกกั้ง ดูเหมือนจะยอมให้ผลิตและค้ายาเสพติดด้วย) คะฉิ่นมีสิทธิในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง เพราะรัฐบาลกลางและกองทัพพม่าไม่สามารถให้บริการบางอย่างได้ เช่น การศึกษา สาธารณสุข

อันที่จริงน่าจะถือว่าคะฉิ่นเป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับตัดมาดอว์มากที่สุด แม้ว่าพรรคการเมืองอย่าง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for DemocracyNational League for Democracy: NLD) ของ ออง ซาน ซูจี จะคว่ำบาตรไม่ร่วมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 และการเลือกตั้งในปี 2010 กลุ่มคะฉิ่นก็เข้าร่วม แต่ข้อเสนอหลายอย่าง เช่น เรื่องสิทธิทางการเมือง และแนวคิดสหพันธรัฐถูกฝ่ายรัฐบาลตีตกไป อีกทั้งพรรคการเมืองของคะฉิ่นคือ พรรครัฐคะฉิ่นก้าวหน้า ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเพื่อร่วมเลือกตั้งในปี 2010 ด้วยเหตุผลว่า ผู้ก่อตั้งคือ มานาม ทู จา เคยเป็นรองประธานองค์การเอกราชคะฉิ่น ซึ่งมีกองกำลังอยู่ในมือ

แต่เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นการลงโทษ เพราะกองทัพเอกราชคะฉิ่นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัดมาดอว์

ความไม่พอใจดังกล่าว ประกอบกับการที่รัฐบาลอนุมัติให้จีนสร้างเขื่อนมิตโซน ในรัฐคะฉิ่น ซึ่งคาดว่าสร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก องค์การเอกราชคะฉิ่นเขียนจดหมายไปหารัฐบาลจีนเพื่อให้ยุติโครงการ

...

ที่สุดแล้ว สัญญาสงบศึกที่มีอายุยืนยาวมาได้ 17 ปี ก็ถูกฉีก เมื่อตัดมาดอว์ส่งทหารบุกฐานที่มั่นคะฉิ่นในเดือนมิถุนายน 2011 จากนั้นก็มีการปะทะระหว่างกองกำลังคะฉิ่นและตัดมาดอว์อยู่มิได้ขาด และองค์การเอกราชคะฉิ่นก็ปฏิเสธร่วมลงนามในสัญญาสงบศึกแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้การนำของ พลเอกเต็ง เส่ง (2010-2015) หรือของ ออง ซาน ซูจี (2016-2020) นอ บู่ โฆษกขององค์การเอกราชคะฉิ่น เคยตอบคำถาม วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia: RFA) ว่าไม่มีความแตกต่างของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาล เต็ง เส่ง กับ ออง ซาน ซูจี เพราะพม่ามีรัฐซ้อนรัฐอยู่ตลอดเวลา ถ้ารัฐหนึ่ง คือรัฐบาล (ไม่ว่าใครจะนำ) บอกอย่างหนึ่ง อีกรัฐหนึ่ง คือตัดมาดอว์ ก็จะบอกอีกอย่างเสมอ

หลังการรัฐประหารไม่กี่วัน บัน ลา ประธานองค์การเอกราชคะฉิ่น ได้กล่าวในโอกาสครบรอบ 60 ปีวันปฏิวัติคะฉิ่น ว่า องค์การเอกราชคะฉิ่นได้เจรจากับระบอบทหารพม่าตลอดมา เพื่อหาทางบรรลุสันติภาพและสหพันธรัฐ แต่คำว่า ‘สหพันธรัฐนิยม’ ดูเหมือนจะเป็นคำต้องห้ามตลอดมา ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถถกเถียงเรื่องนี้กันได้อย่างเสรีเท่านั้น.