คอลัมน์เมื่อเดือนที่แล้ว เกือบทั้งเดือนเป็นเรื่องของโควิด-19 ซึ่งเป็นความสูญเสียของมนุษยชาติ โควิด-19 เป็นเรื่องเศร้าที่ทำลายทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่คอลัมน์แรกของเดือนพฤษภาคมขอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจในแง่บวกกันบ้างครับ

การขายของแบบออฟไลน์ที่ขายแบบมีหน้าร้านทำได้ยากในวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ทำให้การค้าออนไลน์โตขึ้นในทุกประเทศ แต่ก่อนง่อนชะไร เมื่อพูดถึงค้าปลีกในสหรัฐฯต้องยอมรับครับว่าวอลมาร์ทเป็นเบอร์ 1 ตอนนี้บริษัทบางแห่งที่เชื่อถือได้เปิดเผยผลวิจัยออกมาแล้ว ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกทางออนไลน์แอมะซอน (Amazon) จะเป็นบริษัทค้าปลีกอันดับ 1 ของสหรัฐฯ อันดับ 2 จะเป็นวอลมาร์ท และอันดับ 3 จะเป็นโครเกอร์

งบประมาณของไทยที่ใช้กันทุกกระทรวงทบวงกรมทั้งปีทั้งประเทศ ตกราว 3-4 ล้านล้านบาท แต่ยอดขายของแอมะซอนเพียงบริษัทเดียวใน พ.ศ.2568 มีการคำนวณกันไว้ที่ 631.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยก็เกือบจะ 20 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่ายอดขายของบริษัทเดียวมากกว่างบประมาณของประเทศไทย 4-5 เท่า

ขณะที่ห้างวอลมาร์ททั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่รวมห้างแซมส์คลับเข้าไปด้วย จะอยู่ที่ 523.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยก็ 16.2 ล้านล้านบาท และห้างโครเกอร์จะอยู่ที่ 166.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท ผู้อ่านท่านลองรวมตัวเลขดูนะครับ แค่ 3 ห้างค้าปลีกของสหรัฐฯจะขายของรวมกันได้มากถึง 689.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 21.3 ล้านล้านบาท เป็นเงินมากมายมโหฬารมหาศาลมาก

ตลาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในสหรัฐฯมียอดขายมากกว่า 1.204 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยคือ 37 ล้านล้านบาท ตอนที่มีการค้าออนไลน์ในโซเชียลมีเดียไทยใหม่ๆเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีหลายคนดูหมิ่นถิ่นแคลนคนขายของออนไลน์ ไอ้พวกด่าและดูถูกคนขายออนไลน์นี่มีวิสัยทัศน์สั้นที่ทายทักอนาคตไม่ออก แล้ววันนี้เป็นไง กระแสเงินที่กระจัดพลัดพรายแรงสุดบนโลกอยู่ที่การค้าออนไลน์ ยิ่งมีโรคร้ายระบาด คนยิ่งไม่อยากจะออกนอกบ้าน การค้าออนไลน์จึงเติบโตขึ้นอย่างที่ไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน โรคระบาดเป็นตัวเร่งให้การค้าออนไลน์พุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้

...

รัฐบาลของหลายประเทศเร่งส่งเสริมให้ประชาชนของตนมีทักษะเกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์อย่างเดียว แต่แท้ที่จริง การค้าไม่ใช่เรื่องออนไลน์เท่านั้น เป็นเรื่องออฟไลน์ผสมกันเข้าไปด้วย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีการแข่งขันกันเรื่องของเวลาในการส่งของ ใครส่งของไวที่สุดได้เปรียบ บรรดาบริษัทค้าออนไลน์ทั้งหลายจึงสร้างหน้าร้านไว้โชว์สินค้าและโกดังไว้เก็บสินค้าตามเมืองต่างๆทั่วแผ่นดินจีน

เมื่อมีการสั่งสินค้า ผู้ขายสามารถส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ไม่เกิน 15 นาที สร้างความประทับใจให้กับผู้ซื้อเป็นอย่างมาก แต่เดิมมีงานวิจัยว่าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ต่างๆจะหายไป แต่ที่ประเทศจีนกลับมีการสร้างห้างขนาดใหญ่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆเต็มไปหมด

มนุษย์เรายังต้องการพักผ่อนและความบันเทิงเริงใจ อยู่บ้านอุดอู้ก็ต้องออกไปเดินตามห้าง ไปทานอาหาร ไปดูภาพยนตร์ ไปซื้อของ และนี่ละครับ ที่ทำให้ออฟไลน์ยังไม่ตายไปจากประเทศจีน และผมเชื่อว่าออฟไลน์จะยังไม่ตายไปจากโลกด้วย บริษัทค้าออนไลน์จึงนิยมไปสร้างหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าด้วย

เทคโนโลยีการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว ทำให้เดี๋ยวนี้มีการสร้างชั้นวางสินค้าเสมือน (Visual Shelf) ไว้ตามห้างต่างๆ เป็นที่แสดงสินค้า กดคิวอาร์โค้ดซื้อสินค้า สินค้าอาจจะส่งมาจากต่างเมืองหรือต่างประเทศโดยที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้ ส่งจากโรงงานผู้ผลิตหรือบริษัทตัวแทนถึงมือลูกค้าโดยตรง

วิชาการค้าขายและการบริหารธุรกิจปรับกันแทบไม่ทัน หลักสูตรการศึกษาที่ล้าสมัย ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก บางครั้งไปเรียนแล้วเสียเวลาครับ ประสบการณ์และการลงมือทำจริงสอนได้ดีกว่าในตำรา.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com