ถึงจะปิดฉากอำลาโลกไปแล้ว ด้วยวัย 91 ปี แต่ตำนานของ “อิงวาร์ คัมพราด” ผู้ก่อตั้งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดนอย่าง “IKEA” ก็ยังเป็นที่กล่าวขานไปทั่วยุทธจักร
คุณปู่คือคนปฏิวัติอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โลก และเจ้าลัทธิผู้สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการตกแต่งบ้านให้เฟื่องฟู โดยปลุกกระแสคนทั้งโลกให้หันมานิยมเฟอร์นิเจอร์ประกอบได้ด้วยตัวเอง ที่เน้นความเรียบง่าย ดีไซน์มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญต้องราคาถูกชนิดที่ใครจะเลียนแบบก็สู้ไม่ไหว
คุณปู่ยังเป็นนักสร้างภาพตัวยง!! เฉกเดียวกับเถ้าแก่ยุคก่อนๆ แม้จะสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก แต่คุณปู่ก็ยังใช้ชีวิตสมถะและมัธยัสถ์เป็นนิสัย เวลาเดินทางจะนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดเท่านั้น, ขับรถวอลโว่เก่าๆ, ชอบจิ๊กซองเกลือพริกไทยจากร้านอาหาร, ชอบต่อคิวซื้อผักตอนกลางวัน เพราะเป็นช่วงที่ราคาถูกสุด, มักจะรอซื้อของขวัญคริสต์มาสตอนเซลหลังจบเทศกาล แถมกำชับพนักงานอิเกียทุกคนให้ช่วยกันประหยัดน้ำประหยัดไฟ และใช้กระดาษรีไซเคิลซ้ำแล้วซ้ำอีก
ย้อนกลับไปวัยเยาว์ “อิงวาร์ คัมพราด” เติบโตมาในไร่ทางตอนใต้ของสวีเดน เขามีหัวเซงลี้ตั้งแต่เด็ก อายุ 5 ขวบ เริ่มหารายได้พิเศษด้วยการขายไม้ขีดไฟ จากนั้นก็หัวใสไปรับไม้ขีดไฟจากร้านขายส่งในสตอกโฮล์มเอามาแบ่งขายทำกำไร เมื่อเห็นลู่ทางดี จึงรับสินค้าอื่นๆ มาเร่ขายเพิ่ม มีตั้งแต่ปากกาลูกลื่น, ดินสอ, ของกระจุกกระจิก, ของตกแต่งต้นคริสต์มาส, เมล็ดพันธุ์พืช ไปจนถึงปลาสดเขาเป็นเถ้าแก่น้อยตอนอายุ 17 นำเงินรางวัลเรียนดีที่ได้จากพ่อ ผสมกับเงินเก็บหอมรอมริบ มาเปิดร้านขายสินค้าทางไปรษณีย์ในชื่อ “IKEA” มาจากชื่อนามสกุลของเขา ผสมกับชื่อฟาร์มบ้านเกิดและหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง โดยหนุ่มน้อยสร้างเพิงเล็กๆในไร่ของครอบครัวเป็นโกดังเก็บสินค้าและใช้รถขนนมเป็นพาหนะกระจายสินค้าให้ลูกค้า ระยะแรกยังคงเน้นขายของจิปาถะตามแนวถนัด ก่อนจะขยายไปสู่หมวดหมู่เฟอร์นิเจอร์ โดยว่าจ้างโรงงานท้องถิ่น ผลิตโต๊ะกินข้าวเลียนแบบโต๊ะของบ้านลุง เมื่อได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้บริโภค เขาจึงสั่งพิมพ์แค็ตตาล็อกสินค้าแจกลูกค้าฟรี พร้อมเปิดโชว์รูมแรกของ “อิเกีย” ในปี 1953 ตอนอายุ 27 ปี และหลังจากนั้น 5 ปี ก็เปิดร้าน “อิเกีย” สาขาแรกในเมืองแอลม์ฮูลท์ เมืองเล็กๆทางตอนใต้ของสวีเดน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,700 ตารางเมตร
...
“อิเกีย” สร้างชื่อในเวลารวดเร็วกลายเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ที่สุดของสวีเดน มีจุดขายอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์ประกอบชิ้นส่วนด้วยตัวเอง และริเริ่มแนวคิดทำบรรจุภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในกล่องกระดาษแบนๆ เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้าย นอกจากนี้ “อิเกีย” ยังเป็นร้านแรกๆที่ขายของจิปาถะที่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว แถมมีร้านอาหารแนวประหยัด ที่อร่อยขึ้นชื่อเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า ใช้เวลาอยู่ 7 ปี ร้านเฟอร์นิเจอร์จากเมืองเล็กๆจึงพร้อมแต่งตัวสวยเข้าไปบุกเมืองกรุง เปิดสาขาใหญ่เบิ้มในสตอกโฮล์ม พร้อมโกดังสินค้าแบบบริการตัวเองเป็นแห่งแรกในโลก กระทั่งขยายอาณาจักรไปทั่วทุกมุมโลก จนปัจจุบันมีสาขาอยู่เกือบ 400 สาขา ใน 30 ประเทศ สร้างยอดขายปีละไม่ต่ำกว่า 44,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ปี 1986 เหลือเป็นเพียงที่ปรึกษาให้บริษัท และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในไร่องุ่นสวิตเซอร์แลนด์ แต่คุณปู่ยังเดินทางไปเยี่ยมสาขาต่างๆของ “อิเกีย” สม่ำเสมอ พร้อมกอดให้กำลังใจเหล่าพนักงาน ก่อนจะเทศนาถึงคติพจน์ประจำใจของชาวอิเกีย นั่นก็คือ “ความพอเพียง” อันเป็นดีเอ็นเอที่ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ลูกค้าของอิเกียจะคุ้นชินกับการเดินหาของในร้านเอง และเลือกของด้วยตัวเอง โดยมีพนักงานคอยช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น เช่นเดียวกับการถือสินค้าไปจ่ายเงินเอง เข็นของกลับบ้านเอง และประกอบสินค้าด้วยตัวเอง คุณปู่ยืนกรานว่าที่อิเกียต้องตัดบริการเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะอยากลดต้นทุน ทำให้สินค้ามีราคาถูกที่สุดเท่านั้น แต่คุณปู่สร้างวัฒนธรรมแบบนี้ไว้ เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ทุกคนรู้ซึ้งถึงคำว่าพอเพียง และจะช่วยให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น เมื่อรู้จักช่วยเหลือตนเอง และลดการพึ่งพาคนอื่น
เป็นตำนานโลกขนาดนี้ แต่ “อิงวาร์ คัมพราด” ก็ยอมรับว่าเขามีจุดอ่อนและความลับมืดดำอยู่เยอะ เขาเขียนจดหมายถึงพนักงานอิเกียเพื่อขอโทษที่เคยทำผิดตอนวัยรุ่น หลงผิดไปร่วมกลุ่มฝักใฝ่นาซี อีกทั้งยังยอมรับว่าเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก แม้พยายามเลิกเหล้าปีละสามหน.
มิสแซฟไฟร์