อดีตอาณานิคมที่เคยถูกปกครองจากฝรั่งจะมีพัฒนาการในปัจจุบันที่แตกต่างกันมากพอสมควร ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ
บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือ VOC ดูแลอินโดนีเซีย ตอนแรกก็ได้กำไร แต่ 50 ปีสุดท้ายขาดทุนจึงต้องปิดตัวและถ่ายโอนกิจการให้รัฐบาลฮอลันดาดูแลเมื่อ ค.ศ.1800
รัฐบาลฮอลันดาปกครองอินโดนีเซียอยู่อีก 100 ปีคือ ค.ศ.1800-1900 พอถึง ค.ศ.1901 รัฐบาลของฮอลันดาซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเนเธอร์แลนด์ เริ่มมีนโยบายจริยธรรมมาใช้ในอาณานิคมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งภายหลังคืออินโดนีเซีย พวกเสรีนิยมเห็นว่าชาวดัตช์อย่างพวกตนกอบโกยทรัพยากรจากหมู่เกาะแห่งนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงถึงเวลาต้องตอบแทนด้วยการเอาใจใส่สวัสดิการของชาวพื้นเมือง ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การชลประทาน พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การกระจายอำนาจปกครอง และการย้ายถิ่นฐาน
ขณะที่สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส ไม่เคยสนใจประเทศที่ตนเข้าไปปกครองและกอบโกย แต่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้าไปดูแลแม้แต่การซ่อมหลังคาบ้าน สร้างส้วม ลำรางระบายน้ำ ซ่อมและสร้างถนน และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สมัยนั้นมีคนจีนเข้าไปลงหลักปักฐานในหมู่เกาะอินโดนีเซียแล้ว ในขณะที่ชนพื้นเมืองชาวอินโดนีเซียไม่ค่อยได้สนใจตักตวงสิ่งที่เนเธอร์แลนด์มอบให้ แต่ชาวจีนเห็นโอกาส ชาวจีนจึงให้ลูกหลานของตนเองได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ เมื่อรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการไร่อ้อยและโรงสี การนำเข้าสินค้าชาวพื้นเมืองไม่กระตือรือร้น จึงเป็นโอกาสของคนจีนที่สร้างตัวทางด้านเศรษฐกิจด้วยนโยบายจริยธรรมของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
แต่มักจะได้รับการคัดค้านจากผู้นำท้องถิ่นชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางศาสนาท้องถิ่นบางคนที่ไม่อยากให้ลูกหลานเรียนอย่างอื่นนอกจากศาสนา และพยายามสร้างขบวนการชาตินิยมโดยประกาศหลักการชาติ ภาษาและบ้านเกิดเมืองนอนเดียวกัน
...
นโยบายจริยธรรมของเนเธอร์แลนด์จบลงพร้อมกับการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1942 กองทัพญี่ปุ่นตั้งคณะกรรมการเตรียมงานเพื่อเตรียมมอบเอกราชให้อินโดนีเซีย โดยมีผู้นำชาตินิยมจากหลายกลุ่มเป็นสมาชิก และได้เสนอหลักการ pancasila หรือหลักปัญจศีลที่มีอุดมการณ์ 5 ประการ เป็นรากฐานร่วมกันของทุกคนในรัฐคือ ความเชื่อในพระเจ้า ชาตินิยม สากลนิยม ความยุติธรรมทางสังคม และประชาธิปไตย
ปรัชญานี้สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้นำมุสลิม จึงต้องมาประนีประนอมตามกฎบัตรจาการ์ตาว่า รัฐอินโดนีเซียที่จะได้เอกราชต้องยึดหลักศรัทธาในพระเจ้า ต้องนำกฎหมายชารีอะห์มาบังคับใช้ ซึ่งภายหลังได้รับเอกราชแล้ว ประธานาธิบดีซูการ์โนยกเลิกเรื่องกฎหมายชารีอะห์
ยังไม่ทันได้เอกราชของจริง ญี่ปุ่นก็แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซูการ์โนและโมฮัมมัด ฮัตตา ประกาศเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ.1945 แต่อินโดนีเซียมาเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 27 ธันวาคม 1949 โดยการกดดันของสหประชาชาติ ด้วยพื้นฐานที่ เนเธอร์แลนด์วางไว้ให้อินโดนีเซียดีพอสมควร อินโดนีเซียน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่ที่อินโดนีเซียติดกึกติดกัก เป็นเพราะอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตซึ่งมาจากกองทัพและปกครองประเทศอยู่ยาวนานถึง 32 ปี
32 ปีที่ซูฮาร์โตปกครองมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงรุนแรง ผู้คนจากกองทัพเข้ามาดำรงตำแหน่งทางบริหาร อินโดนีเซียแย่มาจนถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจของอินโดนีเซียไปไม่รอด ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจึงยอมลาออกจากตำแหน่งเมื่อ ค.ศ.1998
หมดยุคทหารครองเมือง อินโดนีเซียก็มีผู้นำชื่อบาจารุดดิน ฮาบีบี อับดุลเราะห์มาน วาฮิด และเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี ยุคของ 3 ประธานาธิบดีนี่ การเมืองของอินโดนีเซียก็ยังเน่าอยู่เหมือนเดิม
ปัจจุบัน อินโดนีเซียก้าวมายืนแถวหน้าในสังคมโลกได้เพราะการเมืองดีและนิ่ง ที่การเมืองดีและนิ่งเพราะมีการปฏิรูปการเมืองให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ทำให้ไม่ต้องไปขึ้นกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมาก ประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยุโธโยโน ปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังและผลักดันกฎหมายสนับสนุนการบริหารอย่างอิสระ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ยุคของโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน การเมืองอินโดนีเซียสงบมากขึ้น เศรษฐกิจยิ่งพัฒนา พื้นฐานต่างๆ ที่ฮอลันดาวางไว้ในอดีต มาเห็นผลในยุคของ 2 ประธานาธิบดียุโธโยโนและวิโดโด ครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com