ความที่ผมเคยเรียนที่เนเธอร์แลนด์ถึง 6 ปี สมัยเรียนมัธยมที่เยอรมนีก็พักอยู่ในบ้านพ่อแม่อุปถัมภ์เชื้อสายอินโดนีเซีย จึงเคยได้ฟังเรื่องเล่าสมัยเนเธอร์แลนด์เข้าไปปกครองหมู่เกาะอินเดียตะวันออกเยอะ ทุกวันนี้หมู่เกาะอินเดียตะวันออกเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่เกาะอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากที่สุดในประชาคมอาเซียน ทุกครั้งที่มีประเด็นที่พูดถึงประชาคมอาเซียน หลายคนที่เข้าประชุมอาจลืมนึกไปว่าสิ่งที่อยู่ใต้สมองของชาวอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยสะสมมาจากการอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์มานาน

นอกจากเวียดนาม อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักลงทุนจ้องมอง อาจจะเป็นเพราะทรัพยากร ขนาดของประชากร และการเมืองที่มั่นคง มีองค์กรโลกหลายแห่งทำนายทายทักว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง 

2-3 วันต่อจากนี้ เปิดฟ้าส่องโลกขอมองอินโดนีเซียจากสายตาแว่นของชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม ข้อความบางช่วงขอนำมาจากบทความของพวกดัตช์

อินโดนีเซียเป็นสาธารณรัฐที่มีพื้นที่ถึง 5 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นแผ่นดิน 2 ล้าน เป็นพื้นทะเล 3 ล้าน เพื่อนบ้านของเราประเทศนี้จึงมีทรัพยากรทางทะเลมหาศาล เพราะมีเกาะมากที่สุดในโลกถึง 17,508 เกาะ และไม่ใช่เกาะที่อยู่ในขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ แต่เป็นเกาะที่กระจายอยู่ตามแนวเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีความหลากหลายของพืชและสัตว์สูงที่สุดในโลก

ชาวฮอลันดา (หรือชาวดัตช์ หรือชาวเนเธอร์แลนด์) ไม่ได้เป็นฝรั่งมังค่าชาติแรกที่เข้ามาในอินโดนีเซียนะครับ แต่เป็นโปรตุเกส ซึ่งสมัยนั้นโปรตุเกสมายึดมะละกา (อยู่ในมาเลเซีย) ได้เมื่อ ค.ศ.1511 (510 ปีที่แล้ว) จากนั้นก็กระจายไปตั้งสถานีการค้าที่กัว (หรือโกอา ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐอยู่ในอินเดีย มีเมืองหลวงชื่อปณชี) มะละกา และมาเก๊า

...

ส่วนสเปนไปตั้งสถานีการค้าที่ฟิลิปปินส์ ต่อมาสเปนกับโปรตุเกสทะเลาะกัน และสเปนชนะ จึงสั่งปิดเมืองท่าลิสบอนไม่ให้พ่อค้ายุโรปภาคเหนือมารับสินค้าตะวันออก นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวฮอลันดาจำเป็นต้องออกมาหาสินค้าจากตะวันออกเอง

สเปนกับโปรตุเกสไปครอบครองดินแดนที่ไหน ก็จะนำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไปด้วย ซึ่งต่างจากชาวฮอลันดา คนฮอลันดาไม่นำศาสนามายุ่งกับการค้าขาย ฮอลันดาเข้ามาตั้งสถานีการค้าแห่งแรกที่เมืองบันเติน (เกาะชวา) และไปตั้งสถานีการค้าอีกแห่งที่จาร์ยาการ์ตา (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นปัตตาเวียและจาการ์ตา)

ท่านที่ชอบประวัติศาสตร์ก็คงจะรู้จัก VOC กันเป็นอย่างดีนะครับ คำนี้ย่อมาจาก Vereenigde Oost-Indische Compagnie แปลเป็นภาษาไทยก็คือ บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ท่านที่เดินทางไปในเขตเมืองเก่าของสิงคโปร์ มลายู หรือแม้แต่สยาม มักจะพบการสร้างถนนขนานกับคลอง มีการปลูกต้นไม้เรียงรายตามถนน สร้างตึก ร้านค้า และที่เก็บสินค้าอยู่ริมถนน ลักษณะการสร้างอย่างนี้นี่ละครับ ชาวฮอลันดาเป็นคนนำเข้ามา

การคบค้าสมาคมกับคนอินโดนีเซีย เราควรทราบว่า ผู้คนชนชาตินี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของ VOC เกือบ 200 ปี ช่วงระยะเวลา 2 ศตวรรษ VOC นำทรัพยากรธรรมชาติจากอินโดนีเซียไปสร้างความมั่งคั่งให้กับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนมาก

ต่อมา VOC เกิดสงครามกับอังกฤษ การที่ต้องต่อสู้กับอังกฤษทำให้ภาวะการเงินของ VOC ที่เคยมีกำไร กลับมาขาดทุนต่อเนื่องนานถึง 50 ปี จน VOC ยอมปิดตัวและถ่ายโอนกิจการให้รัฐบาลฮอลันดาเข้ามาดูแลใน ค.ศ.1800 ตั้งแต่นั้นมา อินโดนีเซียและทรัพยากรทั้งหลายในหมู่เกาะแห่งนี้ก็ได้รับการบริหารจัดการโดยรัฐบาลของฮอลันดา

พ.ศ.2554 ผมมีโอกาสตามพ่อไปพูดคุยกับนักธุรกิจจากครอบครัวเก่าแก่ของที่นั่น เดิมการสนทนาก็ราบรื่นธรรมดา ราบรื่นอย่างที่เป็นชาวประชาคมอาเซียนด้วยกัน แต่พอทราบว่าผมจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ การสนทนาราบรื่นยิ่งขึ้น การปฏิบัติต่อพวกเราคนไทยที่ไปคราวนั้น เปลี่ยนไปเป็นการปฏิบัติต่อเพื่อนสนิท

พรุ่งนี้มาเล่ารับใช้ต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com