ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภัตตาคารเฟ่ยไท่ชาน สาขากุ้ยหลิน (เขตปกครองตนเองกวางสี) และสาขาฉางซา (มณฑลหูหนาน) มีบุฟเฟต์ผลไม้ให้ลูกค้าทานฟรี แต่สำหรับสาขาอู่ฮั่น ที่ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้า K11 มณฑลหูเป่ย์ เสียงเรียกร้องจากลูกค้าชาวจีนเรื่องผลไม้ไทยมีสูง ตั้งแต่ศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 จึงเปิดขายผลไม้ไทย และจะเปิดบุฟเฟต์ผลไม้ในช่วงสงกรานต์ในคนละ 299 หยวน
คนจีนที่เคยมาเมืองไทยต่างติดใจประสบการณ์ไทย อาหารไทย วัฒนธรรมประเพณีไทย สงกรานต์ปีนี้ ผมจึงอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานที่เฟ่ยไท่ชาน ทั้ง 3 สาขา เพื่อให้ลูกค้าชาวจีนและชาวไทยในจีนได้สรงน้ำและกราบสักการะขอพร
มีคนไทยติดต่อเพื่อที่จะนำผลไม้ไทยเข้าไปขายในภัตตาคารเฟ่ยไท่ชานกันมากแต่พอสนทนากันแล้ว สวนส่วนใหญ่ติดปัญหาไม่มีใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices (GAP) ซึ่งเป็นการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด ส่วนล้งที่จะบรรจุหีบห่อก็ยังไม่ได้คุณภาพตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีสำหรับการผลิต หรือ Good Manufacturing Practice (GMP) แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ แต่เมื่อไม่มีใบรับรองที่รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อกำหนด ก็ไม่สามารถส่งไปได้
ตลาดจีนต้องการมะขามหวานไทย แต่ถามไปที่ไหน ไม่มีสวนใดมี GAP และก็ไม่มีล้ง GMP สำหรับมะขามหวาน มะเฟืองก็เป็นที่ต้องการ แต่มะเฟืองไทยไม่มีทั้ง GAP และ GMP เมื่อก่อน รัฐบาลจีนยังไม่กำหนดมาตรฐานของเงาะ จึงมีการนำเงาะเข้าไปจำหน่าย แต่ปัจจุบันกำหนดแล้วครับ เงาะเป็น 1 ใน 22 ผลไม้ที่รัฐบาลจีนกำหนดคุณภาพการนำเข้า
พ.ศ.2546 คุณพ่อของผมไปดูสวนน้อยหน่าที่ไต้หวัน เทียบรสชาติกันแล้ว น้อยหน่าไทยกินขาด แต่ก็อย่างว่าละครับ ไม่ค่อยมีสวนไทยมี GAP และไม่มีล้ง GMP สำหรับน้อยหน่า ภัตตาคารของผมนำน้อยหน่าไทยเข้าไปขายไม่ได้ ก็ต้องเอาน้อยหน่าไต้หวันมาขาย
...
คนจีนจำนวนไม่น้อยชอบทานขนุน ปัญหาของเราก็แบบเดิมครับ คือไม่มีทั้ง GAP และ GMP ผมจึงต้องสั่งขนุนจากเวียดนาม หลายคนมาติดต่อเรื่องจะนำส้มเข้าจีน เรื่องส้มอย่าส่งไปเลยครับ เฉพาะที่กุ้ยหลินก็มีส้มทั้งแมนดารินและส้มธรรมดา (orange) ปลูกกัน 2 ข้างทางเต็มไปหมด บางครั้งผลผลิตมากเกินกว่าที่ผู้บริโภคต้องการเสียด้วยซ้ำไป
เสาวรสเป็นผลไม้ที่รัฐบาลจีนกำหนดมาตรฐานการนำเข้า คนจีนปลูกเสาวรสกันเยอะ เวียดนามทางตอนเหนือก็ส่งเสาวรสเข้าไปขายในจีนด้วยราคาแสนถูก ลิ้นจี่ก็ไม่ต้องนำเข้าไปนะครับ เพราะที่จีนมีเยอะ
รัฐบาลจีนกำหนดให้นำเข้าลองกองได้ นอกจากจะต้องมี GAP และ GMP แล้ว ยังต้องปลิดลูกออกจากก้าน แล้วใส่กล่องให้เรียบร้อย เพราะลองกองมักมีแมลงซ่อนอยู่ ลองกองควรส่งทางเครื่องบิน เพราะเปลือกช้ำง่าย ถ้าไปรถหรือไปเรือ โอกาสจะได้ขายยากครับ
มะพร้าว ลำไย มังคุด กล้วยไข่ มะม่วง ส้มโอ สับปะรด (ภูแล) ฝรั่ง มีทั้งบริษัทและบริษัทจีนนำเข้าไปจำหน่าย แต่ที่ไม่พอและตลาดต้องการอย่างมากก็คือมะม่วง
ที่เป็นความต้องการสูงสุดของคนจีนก็คือ ทุเรียน เดี๋ยวนี้มีหลายประเทศปลูกทุเรียน แต่คุณภาพที่คนจีนต้องการก็มีทุเรียนมาเลเซียและทุเรียนไทยเท่านั้น
การทำภัตตาคารไทย+สถานที่ขายสินค้าไทย+ขายสินค้าไทยออนไลน์ในจีน ทำให้ครอบครัวของผมรู้จักตลาดจีนพอสมควร เนื่องจากมีลูกค้ามาถามหาสินค้าทุกวัน
ปีที่แล้ว ผมไม่ได้ขายทุเรียน แต่นำทุเรียนจันทบุรีขึ้นเครื่องบินไปแจกลูกค้าที่ทานอาหารในภัตตาคารติดต่อกันครบ 4 วัน หลังจากนั้นก็มานั่งทำตัวเลข อยากจะบอกความลับว่า แจกทุเรียน กลับได้เงิน (จากการขายอาหาร) มากกว่าขายทุเรียน
ราคาทุเรียนไทยที่แพงมากในปีนี้ มองอีกด้านหนึ่งก็น่ากลัว เพราะอนาคตคนจีนชั้นกลางอาจจะหันไปทานทุเรียนราคาถูกกว่าจากประเทศอื่น และก็เคยชินและติดใจในรสชาตินั้นจนไม่หันกลับมากินทุเรียนไทย.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com