ไวรัสร้ายแรงที่มีต้นกำเนิดจากค้างคาวอย่างที่รู้จักกันดีตอนนี้ก็มีทั้ง ไวรัสอีโบลา และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆอย่าง ซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง, เมอร์สหรือกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ซึ่งนักนิเวศวิทยาด้านค้างคาวยังเพิ่มเติมให้ว่า การสัมผัสของมนุษย์และการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่า ทำให้ความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคสูงขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยมองว่าการมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะและการเกิดของไวรัสจากสัตว์ โดยเฉพาะอาจเกิดขึ้นในค้างคาวนั้นจะทำให้สามารถคาดเดาการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิจัยเลยสวมบทนักล่าไวรัส จัดชุดป้องกันตั้งแต่หัวจดเท้าลุยเข้าป่าดงดิบยามค่ำคืนเพื่อจับค้างคาวที่ติดอยู่ในตาข่ายหลังเวลาสิ้นแสงตะวันในจังหวัดลากูนา ของฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ที่ได้มาจะเป็นค้างคาวเกือกม้า พวกมันถูกนำไปวัดขนาดทำความสะอาด และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำลายและอุจจาระ จากนั้นก็ถูกปล่อยคืนสู่ป่าตามเดิม
ทีมนักล่าไวรัสเผยว่าที่ต้องจับค้างคาวนับพันตัวมาเก็บข้อมูล ก็เพื่อจะนำไปพัฒนาแบบจำลองที่หวังว่าจะช่วยให้โลกหลีกเลี่ยงการระบาดที่คล้ายกับโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 2.8 ล้านคน โดยแบบจำลองนี้ได้รับทุนจากญี่ปุ่นและจะพัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโลส บาโญส ฟิลิปปินส์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า.
...