คลอง “สุเอซ” ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก เพราะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือระหว่างชาติตะวันตกกับชาติตะวันออก ไม่จำเป็นต้องไปอ้อมทวีปแอฟริกาเหมือนในอดีตกาล

เส้นทางน้ำแห่งนี้อยู่ในอียิปต์ ระยะทางประมาณ 193 กิโลเมตร กว้างราว 200 เมตรเชื่อมสองทะเลเข้าด้วยกันคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนภูมิภาคยุโรป และทะเลแดงออกสู่มหาสมุทรอินเดีย มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคของฟาโรห์ “เซนุตเรสที่ 3” แห่งราชวงศ์อียิปต์ ที่ดำริให้เริ่มขุดคลอง ตั้งแต่กว่า 3,700 ปีก่อน

สำหรับคลองที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างกันอย่างจริงจังใน พ.ศ.2402 โดยบริษัทคลองสุเอซ ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่ม และมาเสร็จสิ้นเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2412 หรืออีกสิบปีต่อมา

สุเอซสร้างรายได้แก่อียิปต์อย่างมหาศาล ซึ่งจากกรณีเรือสินค้าไต้หวันระวาง 200,000ตัน ยาว 400 เมตร กีดขวางเส้นทางอยู่ในขณะนี้ได้ทำให้อียิปต์สูญเสียเงินกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 420 ล้านบาทต่อวัน สุเอซยังถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเส้นทางการค้าโลก โดยเฉพาะสินค้าสำคัญอย่างน้ำมันดิบ

เมื่อปีที่ผ่านมามีน้ำดิบถูกส่งผ่านคลองกว่า 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 4.5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำมันดิบโลกที่ขนส่งกันทางทะเล โดยทิศทางการขนส่งน้ำมันดิบผ่านคลองแห่งนี้ จะมุ่งไปทางภูมิภาคเอเชียมากกว่ายุโรป ตัวเลขเมื่อเดือนมิ.ย.
2563 มีการขนส่งสูงสุด 1.27 ล้านบาร์เรลต่อวันไปยังเอเชีย ขณะที่ยุโรปถูกแบ่งเบาการขนส่งทางเรือด้วยท่อส่งน้ำมันดิบซูเหม็ดจากตะวันออกกลางไปยังเมดิเตอร์เรเนียน

แน่นอนว่าเส้นทางสำคัญเยี่ยงนี้ ย่อมผ่านประวัติศาสตร์นองเลือดมาไม่น้อย เมื่อ พ.ศ.2499 รัฐบาลทหารยุค “พ.ท.กามัล นาสเซอร์” สั่งยึดคลองสุเอซคืนจากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการรบพุ่งระหว่างอียิปต์กับชาติผู้ถือหุ้นฝรั่งเศส-อังกฤษ-อิสราเอล ซึ่งยุติลงชั่วคราวหลังสหรัฐฯ โซเวียต และสหประชาชาติเข้าแทรกแซง

...

จนกระทั่งเกิดศึกรอบใหม่ระหว่างอียิปต์ซีเรียกับอิสราเอล หรือสงครามยอม คิปปูร์ พ.ศ.2516 ที่จบลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพและรื้อฟื้นความสัมพันธ์อียิปต์–อิสราเอลขึ้นมาใหม่ และทำให้อิสราเอลยอมคืนคาบสมุทรไซนาย จนอียิปต์กลายเป็นเจ้าของคลองสุเอซตัวจริงใน พ.ศ.2522.

ตุ๊ ปากเกร็ด