เป็นมหากาพย์ที่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ สำหรับการจัดงานแข่งขันกีฬาระดับโลก “โอลิมปิก” โตเกียว 2020 ที่ปัจจุบันกลายเป็นโตเกียว 2021 จากสถานการณ์ไวรัสมรณะโควิด-19
เพราะในที่สุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ถือคบเพลิงจากทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่น ได้รับมอบเพลิงช่วงสุดท้ายมาเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มนำพาไฟแห่งจิตวิญญาณโอลิมปิก จากจังหวัดฟูกูชิมะ วิ่งผ่านสถานที่ 859 แห่ง ใช้เวลา 120 วัน เพื่อมุ่งสู่สนามกีฬาพิธีเปิดงานแข่งขันในกรุงโตเกียว ในวันที่ 23 ก.ค. นี้
ถือว่าได้ทำสมความตั้งใจเสียที หลังรัฐบาลญี่ปุ่นต้องลงทุนลงแรงไปมหาศาล ทั้งโปรโมต เตรียมการสถานที่ วางนโยบาย ดูแล สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษ โดยงบประมาณการใช้จ่ายได้พุ่งไปถึง 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 462,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 90,000 ล้านบาท เป็นงบที่เพิ่มขึ้นมา จากสาเหตุของสถานการณ์อลเวงปีก่อน
แต่อนิจจาสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะหนักหน่วง “เข้าเนื้อ” เพียงใด เพราะสิ่งที่ญี่ปุ่นหมายมั่นปั้นมือไว้ อย่างการดึงดูดนักท่องเที่ยวและแฟนกีฬาจากต่างประเทศก็พินาศสิ้น การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ ทำให้การเดินทางแทบจะเป็นไปไม่ได้ บางชาติเที่ยวบินระงับไปเลย ขณะที่บางชาติไปได้ แต่กลับมาก็ต้องกักตัว เท่ากับว่าจะลาพักร้อนไป ต้องลากันเป็นเดือน
นี่ยังไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อประเมินว่า งานครั้งนี้อาจกลายเป็น “เหตุซุปเปอร์สเปรดเดอร์” เนื่องจากนักกีฬานานาชาติจากกว่า 200 ประเทศ จะหลั่งไหลเข้ามาในกรุงโตเกียว จนสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ก่อนทางการญี่ปุ่นก็ประกาศมาตรการอันน่าหดหู่ในที่สุดว่า ผู้เดินทางจากต่างประเทศ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2021 ครั้งนี้
...
ขณะที่ผลโพลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ มองว่าควรเลื่อนต่อไปอีก หรือยกเลิกการจัดงานไปเลย เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ไม่รวมถึงเหตุตะกุกตะกักที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงขั้นที่ทาโร อาโสะ รมว.คลังญี่ปุ่น บ่นอุบว่า โตเกียวโอลิมปิกเหมือนต้องคำสาป
ไล่ตั้งแต่ปัญหาการออกแบบสนามกีฬาเปิดงานแห่งใหม่ ที่งบบานปลายไปถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 60,000 ล้านบาท จนรัฐบาลต้องสั่งระงับ เปลี่ยนมาเป็นแบบเรียบง่ายเหตุโฟร์แมนคุมงานก่อสร้างทำงานหนักจนฆ่าตัวตาย การปรับเปลี่ยนโลโก้โตเกียวโอลิมปิกหลังถูกกราฟิกดีไซเนอร์จากเบลเยียมโวยวายว่า ถูกก๊อปสัญลักษณ์ที่ออกแบบให้โรงละครเมืองลีจ
ไปจนถึงประธานคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกกล่าวหาว่า พัวพันคอร์รัปชัน เรื่องการประมูลจัดงาน การลาออกของคณะกรรมการจัดงาน 2 คน จากกรณีคำพูดเหยียดเพศ หรือกรณีการตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่การจัดงานแข่งวิ่งมาราธอน จากกรุงโตเกียว ย้ายไปเป็นซัปโปโรแทน เนื่องจากกังวลเรื่องอากาศร้อนจัด
อย่างไรก็ตาม โมโตโกะ ริช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เขียนถึงสาเหตุที่ยังไงๆ ก็ต้องจัดงานให้สำเร็จ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องนี้หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าญี่ปุ่นเคยมีแผลมาแล้ว ที่เหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้ทำให้ญี่ปุ่นต้องเลิกการจัดงานโอลิมปิกไปเมื่อ พ.ศ.2483 ดังนั้น การได้รับเลือกให้จัดงานครั้งนี้ จึงกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเสียใจ และการกำเนิดเกิดใหม่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน เพราะในช่วงปลายเดือน ก.พ.ปีหน้า รัฐบาลจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว “ปักกิ่ง วินเทอร์ โอลิมปิก 2022” รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ตัวเองเป็นผู้จัดงานโอลิมปิกเป็นคนแรกในโลกยุคหลังโควิด-19
และแน่นอนหากยกเลิกโตเกียว โอลิมปิก 2021 ไปเสีย ก็จะเท่ากับว่า “จีน” จะกลายเป็นชาติแรกที่จัดงานแข่งขันกีฬาระดับโลกในยุคหลังโควิดได้สำเร็จ ทั้งย่อมเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลจีนใช้เป็นโฆษณาป่าวประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ด้วย ว่า ระบบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของข้า “เหนือกว่า” ระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยของโลกตะวันตก
เป็นเรื่องที่น่าหาคำตอบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นชั่งน้ำหนักเช่นไร ระหว่างการแสดงบทบาทในเวทีโลก กับความปลอดภัยของคนในประเทศ ตอนนี้โควิดตัวกลายพันธุ์ที่ระบาดได้เร็ว ติดต่อได้ง่าย เริ่มผุดขึ้นมาในประเทศต่างๆ เต็มไปหมด งานโอลิมปิกจะเป็นการเปิดประตูนำเชื้อหลั่งไหลเข้ามาหรือไม่
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในญี่ปุ่นจะไม่รุนแรงเท่าสหรัฐฯหรือยุโรป แต่ก็มีผู้ติดเชื้อวันละหลักพันคน ขณะที่กระบวนการฉีดวัคซีนต้านไวรัสให้แก่ประชาชนกลุ่มแรกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ก็ยังไม่ได้เริ่มต้น รอฉีดตามกำหนดการในเดือน เม.ย. จะสร้างภูมิคุ้มกันให้คนส่วนใหญ่ทันเดือน ก.ค. รึเปล่า
...
งานนี้จึงเป็นการเดิมพันที่สูงยิ่งนัก.
วีรพจน์ อินทรพันธ์