ปัญหาการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกานั้น มีมาเนิ่นนานจาก “ทัศนคติ” และ “อคติ” ที่หยั่งรากฝังลึก คำว่า “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” คงเป็นเพียงอุดมคติที่ยังไปไม่ถึง

เซซามี สตรีท” เป็นรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ที่ผลิตโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ “เซซามี เวิร์ก ช็อป” เปิดตัวเมื่อห้าทศวรรษที่แล้ว

ในปี 2512 มีตัวละครหลักๆเป็นหุ่นเชิด ด้วยคาแรกเตอร์โดดเด่นอย่าง บิ๊กเบิร์ด นกสีเหลือง คุกกี้ มอนสเตอร์ สัตว์ประหลาดสีน้ำเงินที่ชอบกินคุกกี้ หรือ เอลโม่ ตัวประหลาดสีแดง ที่สอดแทรกเรื่องราวที่ยากต่อการอธิบายเด็กๆได้อย่างแนบเนียนและเหมาะสมกับวัยในปี 2545 เซซามี สตรีทของแอฟริกาใต้ได้นำเสนอตัวละครใหม่ “คามิ” ตัวละครเด็กกำพร้าวัย 5 ขวบ ที่ติดเชื้อเอชไอวี ยังมีตัวละครไร้บ้านชื่อ “ลิลี่” เปิดตัวในปี 2554 เพื่อสอนให้เด็กๆเรียนรู้เรื่องราวของคนที่ต้องต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหารและที่อยู่อาศัย ในปี 2562 เปิดตัว “คาร์ลี” ตัวละครสีเขียวที่มีแม่ติดยาเสพติด ตามมาด้วย “จูเลีย” ตัวละครเด็กออทิสติก โดยยังไม่เคยพูดถึงการเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติเลย แม้ผู้ผลิตจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมก็ตาม

มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า “คนสามารถรับรู้ความแตกต่างทางเชื้อชาติได้ตั้งแต่เป็นทารก” นอกจากนี้มหาวิทยาลัยชิคาโกยังเผยในปี 2562 ว่าพ่อแม่หลายคนไม่ค่อย หรือไม่เคยพูดคุยกับลูกเรื่องเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ประกอบกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ จึงทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจว่าถึงเวลาที่ต้องทำอะไรสักอย่าง และวิธีแรกก็คือ ต้องสอนให้เด็กๆ ตั้งแต่ 3 ขวบเป็นต้นไป เข้าใจเรื่องการเหยียดผิว-เชื้อชาติ

...

แล้วตัวละครใหม่ พ่อ-ลูกผิวสี คุณพ่อเอไลจาห์ และเวส ลูกชายวัย 5 ขวบ ก็เปิดตัวเมื่อ 23 มี.ค.เพื่อเฉลิมฉลองเอกลักษณ์เฉพาะตัวของปัจเจกชน ให้เด็กๆเข้าใจว่าทำไมถึงมีสีผิว สีผมแตกต่างกัน พร้อมย้ำว่า “สีผิวเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกว่าเราเป็นใคร และไม่เป็นไร หากเราจะแตกต่างกันในหลายๆด้าน” หลังจากได้ชิมลางสอนเด็กๆให้ยืนหยัดต่อต้านการเหยียดผิว เมื่อเดือน ต.ค. โดยแสดงให้เห็นว่าสร้างความเจ็บปวดได้อย่างไร รวมทั้งเรียกร้องให้ต้อง “พูด” เมื่อโดนเหยียดผิวหรือพบเจอการกระทำดังกล่าว เพราะมันคือ “สิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

อีกไม่นานเซซามี สตรีท คงต้องเพิ่มตัวละครใหม่ที่เป็นชาวเอเชียนและละติน อเมริกัน.

อมรดา พงศ์อุทัย