• รัสเซียประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี มีการชุมนุมทั่วประเทศต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านที่ถูกจับกุมตัวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง 
  • ผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวรวมแล้วกว่า 8,000 คน ในจำนวนนี้รวมไปถึง นางยูเลีย นาวาลนี ภรรยาของนายอเล็กเซ นาวาลนี ที่ออกมาร่วมชุมนุมในกรุงมอสโก 
  • ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เผชิญข้อสงสัยจากสาธารณชน กรณีนายนาวาลนีเปิดโปงนายปูตินว่าครอบครอง "คฤหาสน์หรูริมทะเลดำ" มูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38,900 ล้านบาท 

กลุ่มสังเกตการณ์การเมืองรัสเซียเผย เหตุประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลเมื่อวันที่ 31 ม.ค. มีคนออกมาร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน ใน 86 เมืองทั่วประเทศ มีผู้ถูกจับกุมตัวกว่า 5,000 คน ในจำนวนนี้ถูกจับที่กรุงมอสโก 1,608 คน รวมไปถึง นางยูเลีย นาวาลนี ภรรยาของนายอเล็กเซ นาวาลนี ที่อยู่ระหว่างถูกกักบริเวณในบ้านพัก นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 1,122 คน 

ในช่วงค่ำแกนนำการประท้วงประกาศยุติการชุมนุมแล้วนัดรวมตัวรอบใหม่ "ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของนาวาลนี" ในวันอังคารที่ 2 ม.ค. ที่หน้าศาลในกรุงมอสโก ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีนายนาวาลนี ในข้อหาละเมิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวจากคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีเก่าที่เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี เมื่อปี 2557 และศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งนายนาวาลนีระบุว่า เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

...

ขณะนี้สถานการณ์การเมืองรัสเซียดุเดือดแบบรายวัน เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ผู้คนนับแสนในกว่า 70 เมืองทั่วประเทศฝ่าความหนาวเย็นออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ "มาทรอสคายา ทิชิน่า" ในกรุงมอสโก ท่ามกลางการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของประธานาธิบดีและบรรดาเครือข่ายคนใกล้ชิด  

ขณะที่สื่อต่างๆ นำเสนอภาพข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วง กลุ่มคนหนุ่มสาวบุกเข้าทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านกลุ่มผู้ประท้วงก็มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงของเด็กๆ ที่มาประท้วงเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ตำรวจทำ

ตำรวจบุกไปตามบ้าน ออกกวาดจับบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนและคนใกล้ชิดของนายนาวาลนี รวมไปถึง นางยูเลีย ภรรยาของนายนาวาลนี ในขณะที่ นายโอเล็ก น้องชายของนายนาวาลนี ถูกศาลสั่งกักบริเวณอยู่ที่บ้าน 

จนถึงตอนนี้มีผู้ประท้วงถูกตำรวจจับกุมตัวไปแล้วเกือบ 8,000 คน บรรดาแกนนำถูกตั้งข้อหาล่อลวงผู้เยาว์ออกมาประท้วง มีโทษรุนแรงพอๆ กับขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงหญิงสาวค้าบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีข้อหาฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตำรวจขู่ว่า คนที่ออกมาประท้วงอีกจะถูกตั้งข้อหาก่อจลาจล อาจมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี 

"จับกุมนาวาลนี" ชนวนเหตุประท้วง 

ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงคือ รัฐบาลต้องปล่อยตัวนายนาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้าน วัย 44 ปี ที่ถูกตำรวจรวบตัวไปทันทีที่เดินทางกลับถึงสนามบินเชเรเมเตียโว ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 18 ม.ค. หลังจากที่เขาถูกวางยาพิษขณะกำลังขึ้นเครื่องบินไปพบแหล่งข่าวที่แถบไซบีเรีย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. จนต้องบินไปรักษาตัวที่เยอรมนีนานกว่า 4 เดือน คณะแพทย์ในเยอรมนียืนยันว่าเขาถูกวางยาด้วยสารพิษกลุ่มทำลายประสาท "โนวิช็อก" รวมทั้งยาฆ่าแมลงบางชนิด ต่อมาเมื่อเดือนที่แล้ว นายนาวาลนีเปิดเผยว่าเขาสามารถหลอกให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง FSB สารภาพว่าเป็นการแอบวางยาพิษในกางเกงใน หากถึงมือหมอช้ากว่านั้นเขาอาจไม่รอด

การวางยาพิษนายนาวาลนีเมื่อเดือน ส.ค. ไม่ได้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปี 2563 ตอนที่ติดคุกก็เคยโดนใช้สารเคมีทำให้เกิดอาการแพ้ สองปีก่อนก็เคยโดนแอบป้ายสารเคมีเหลวสีเขียว แต่รอดมาได้  

หากมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน นายนาวาลนีเพิ่งเบนเข็มจากการเป็นทนาย เริ่มเข้ามาเป็นผู้นำการเปิดโปงคอร์รัปชันในแวดวงการเมืองและระบบราชการ ผ่านบล็อกส่วนตัวและช่องยูทูบ ภาพลักษณ์ของเขาคือนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันที่ไม่ได้รับเงินทุนมาจากชาติตะวันตก แต่เป็นเงินที่เขาได้มาจากการลงทุน เขายังไม่ได้กลายเป็นจุดสนใจ หรือเป็นที่รู้จักจากคนในรัฐบาลรัสเซียมากนัก จนกระทั่งประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้จากประธานาธิบดีปูติน เมื่อปี 2561 แต่ถูกสกัดด้วยคดีต่างๆ ที่เขาอ้างว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมือง  

...

ตอนนี้ชื่อ "นาวาลนี" เป็นเหมือนแบรนด์ที่เป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลรัสเซีย เป็นชื่อที่ประธานาธิบดีปูตินไม่เคยเอ่ยถึง และเป็นชื่อที่ถูกแบนจากสื่อต่างๆ ที่ควบคุมโดยรัฐบาลเครมลิน กรณีการถูกวางยาพิษเมื่อเดือน ส.ค. ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่มีอิทธิพลมืดพยายามจะสกัดเขาออกไป แต่เป็นครั้งที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากที่สุด ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับจ้องที่รัสเซียอีกครั้ง 

เปิดโปงใครคือเจ้าของ "คฤหาสน์ราชวังริมทะเลดำ" 

แม้เจ้าตัวจะอยู่ในคุกโดยไม่รู้ชะตากรรม แต่เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ทีมงานของนายนาวาลนี ก็ยังอัปโหลดคลิปวิดีโอในช่องยูทูบของเขา เป็นสารคดีเชิงสืบสวนความยาวกว่า 2 นาที ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีปูตินมีช่องทางการคอร์รัปชันรับสินบนจากนักธุรกิจ โยกย้ายเงินกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างคฤหาสน์หรูราวกับพระราชวังที่เมืองเกเลนด์ซิค เมืองตากอากาศริมทะเลดำ มีคนเข้าไปดูคลิปวิดีโอนี้มากกว่า 100 ล้านวิว (รัสเซียมีประชากร 146 ล้านคน) 

ประธานาธิบดีปูตินที่ปกติแล้วจะไม่เคยออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาใดๆ เลย ได้ออกมากล่าวว่า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังนี้ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

...

ขณะที่บรรดาสื่อต่างๆ ของรัฐบาลมักจะเพิกเฉย ไม่ออกข่าว ไม่ให้ความสำคัญกับนายนาวาลนี แต่ล่าสุด "Rossiya-1" ทีวีของทางการรัสเซียได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเนื้อหาบางส่วนของรายการทีวีที่บุกไปยังคฤหาสน์ริมทะเลดำ สัมภาษณ์คนดูแลการก่อสร้าง ซึ่งเขาบอกว่า สถานที่แห่งนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นโรงแรมสุดหรู ซึ่งมีทั้งห้องพัก แผนกต้อนรับ และสระว่ายน้ำ ไม่ใช่ "พระราชวังปูติน" ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ด้านโฆษกของประธานาธิบดี ออกรายการทีวีช่วงไพรม์ไทม์ สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ปฏิเสธว่าข้อกล่าวหาของนายนาวาลนี เกี่ยวกับคฤหาสน์ริมทะเลดำนั้นไม่เป็นความจริง

อีกรายการทีวีที่ได้รับความนิยม ใช้เวลากว่า 40 นาที นำเสนอเรื่องราวของนายนาวาลนี ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ปลุกปั่นทางการเมือง และนำเสนอข้อความของชาติตะวันตกที่ต่างแสดงสายสัมพันธ์ แสดงความห่วงใยมายังนายนาวาลนี แสดงให้เห็นว่านายนาวาลนีกำลังทำงานที่บ่อนทำลายประเทศชาติ 

ล่าสุด นายอาร์คาดี โรเทนเบิร์ก คู่ซ้อมยูโดและเพื่อนตั้งแต่สมัยวัยเด็กของประธานาธิบดีปูติน ได้ออกแถลงการณ์บอกว่า คฤหาสน์ริมทะเลดำเป็นของเขาเองที่ก่อสร้างเพื่อเป็นโรงแรมหรูขนาด 16 ห้อง

การออกมาช่วยกันปฏิเสธเป็นพัลวันของทางฝ่ายรัฐบาลและคนใกล้ชิดของปูติน ความรีบร้อนในการจับกุมตัวนายนาวาลนี แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองของรัสเซียที่กำลังเปลี่ยนไป 

...

นานาชาติพยายามกดดันรัฐบาลรัสเซีย

หลังจากที่นายนาวาลนีถูกจับกุมตัว บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั้งเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมไปถึงสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปูตินปล่อยตัวนายนาวาลนี ขณะที่สหรัฐฯ นายเจค ซุลลิแวน หนึ่งในผู้ช่วยระดับสูงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมครั้งนี้เช่นกัน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปพิจารณายกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย


ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเพิกเฉยต่อแรงกดดันจากต่างชาติ และออกมาเตือนให้ประเทศเหล่านี้เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ อย่าแทรกแซงหรือก้าวก่าย ละเมิดกฎหมายภายในประเทศของรัฐอธิปไตย และบอกให้ไปจัดการปัญหาต่างๆ ในประเทศตัวเอง

ปัจจัยที่ทำความนิยม "ปูติน" ลดลง

ประธานาธิบดีปูติน บริหารประเทศมายาวนานกว่า 22 ปีแล้ว ที่ผ่านมาคะแนนความนิยมในตัวเขาจะอยู่ที่ราวๆ กว่า 60% เป็นตัวเลขสูงที่สุดในบรรดาผู้นำทั่วโลก แต่เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วโพลชี้ว่า ตัวเลขเริ่มลดลงไปอยู่ที่ 59% มาจากปัญหาราคาน้ำมันลดฮวบ เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ของชาวรัสเซียลดลง ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้น และช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยังถูกมองว่าล้มเหลวในการรับมือและออกมาตรการควบคุมต่างๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งมาอยู่ที่กว่า 3.8 ล้านราย สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ อินเดีย และบราซิล 

เมื่อก่อนมีเพียงกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนายนาวาลนี เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีปูติน แต่จากแรงขับเคลื่อนภายในประเทศก็ทำให้ในการประท้วงครั้งนี้จะพบว่ามีคนหลายกลุ่มออกมา รวมไปถึงคนวัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน ผลการสำรวจพบว่าคนที่ออกมาประท้วงถึง 1 ใน 3 เป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยออกมาประท้วงทางการเมืองมาก่อน

ผู้ประท้วงวัย 40 ปีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ BBC ระบุว่า "ฉันเข้าใจว่าตอนนี้อยู่ในรัฐที่ไร้กฎหมาย รัฐตำรวจ ไม่มีศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ประเทศที่ถูกปกครองด้วยการคอร์รัปชัน และเธออยากอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่แบบนี้"

เรียกได้ว่าประชาชนชาวรัสเซียต่างกำลังเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เบื่อกับระบบเผด็จการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายนาวาลนี ได้กลายเป็นตัวจุดชนวนที่สำคัญต่อปรากฏการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่การใช้อำนาจตอบโต้ของรัฐบาลก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์บานปลาย ผู้คนพากันออกมาประท้วงตามท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึง รัสเซียจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ชี้วัดฐานอำนาจของรัฐบาลปูติน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี 2567 การคุมขังนายนาวาลนีไว้ก่อน ย่อมเป็นผลดีกับฝ่ายรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็จะยิ่งเป็นการจุดไฟการประท้วงให้ยิ่งรุนแรง

เราจะได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับฝ่ายต่อต้านไปอีกนาน และไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาประธานาธิบดีปูตินจะเคยเจอกระแสการประท้วงมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังคงอยู่ในอำนาจมาได้อย่างมั่นคง เพราะยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก.

 

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์