• อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินหน้าตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ชื่อว่าพรรค "Patriot Party" หรือ "พรรครักชาติ" เพื่อที่จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 
  • นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ออกมาระบุว่า ทางวุฒิสภากำลังเตรียมเริ่มกระบวนการไต่สวนความผิดของทรัมป์ในวันที่ 8 ก.พ. ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.
  • พรรครีพับลิกันกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เกิดบรรยากาศแห่งความแตกแยก เป็นกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ กับกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับทรัมป์ 

"We will be back in some form ... Have a good life." "เราจะกลับมาในแบบใดแบบหนึ่ง ... ขอให้มีชีวิตที่ดี" อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวประโยคนี้กับบรรดากลุ่มผู้สนับสนุน ก่อนหันหลังลงจากเวที ออกเดินทางกลับสู่ปาล์ม บีช ฟลอริดา เมื่อเช้าวันที่ 6 ม.ค.

นี่อาจจะเป็นคำกล่าวทิ้งท้ายที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลสำหรับใครหลายคนที่รู้สึก "เกินพอ" กับรัฐบาลทรัมป์ เพราะไม่รู้ว่าประโยคนี้ทรัมป์หมายความว่าอะไร ทรัมป์จะกลับมาแบบไหน แล้วจะกลับมาได้อีกจริงหรือไม่ โดยเฉพาะบรรดาคนในพรรครีพับลิกันที่ต่างคาดเดาไม่ถูกว่า ทรัมป์คิดจะทำอะไรต่อไป ขณะที่ในพรรคเองกำลังเกิดบรรยากาศแห่งความแตกแยก เป็นกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ กับกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับทรัมป์

...

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค. หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานข่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ก่อนที่จะหมดวาระ ทรัมป์เที่ยวคุยกับคนใกล้ตัวเกี่ยวกับแนวคิดว่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ และตั้งชื่อพรรคได้แล้วด้วย นั่นคือ "Patriot Party" หรือ "พรรครักชาติ" เพื่อที่จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 และเขายังคงพูดเรื่องการตั้งพรรครักชาติ ในช่วงที่ออกจากทำเนียบขาวมาแล้ว 

หลังจากมีข่าวนี้ออกมา หลายคนสงสัยว่ามีโอกาสหรือไม่ที่ทรัมป์จะผลักดันพรรคการเมืองของเขาขึ้นมาแล้วลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง  

พรรคการเมืองที่สามในสหรัฐฯ

ระบบการเมืองของสหรัฐฯ เป็นแบบสองพรรค รีพับลิกัน และ เดโมแครต ซึ่งทำให้ที่ผ่านมานโยบายและการบริหารประเทศค่อนข้างมีความแน่นอน แม้จะมีพรรคการเมืองอื่นที่เรียกว่า พรรคการเมืองที่สาม (Third Party) ที่ใหญ่ที่สุดอีก 3 พรรค ได้แก่ พรรคอิสรภาพนิยม (Libertarian Party) พรรคกรีน (Green Party) และพรรครัฐธรรมนูญ (Constitution Party) นอกจากนี้ยังมีพรรคยิบย่อย พรรคการเมืองระดับรัฐอีกกว่า 40 พรรค แต่พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่มีความสำคัญมากนักในการเมืองสหรัฐฯ 

แนวความคิดของทรัมป์ เป็นสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสต์เวลต์ แห่งพรรครีพับลิกัน หนึ่งในประธานาธิบดีผู้ได้รับความนิยมชมชอบสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ เคยลงมือทำมาก่อนแล้ว แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ อดีตประธานาธิบดีรูสต์เวลต์เคยบริหารประเทศมาแล้ว 2 สมัย จากนั้นก็ออกจากพรรครีพับลิกันมาตั้งพรรคการเมืองเอง ชื่อว่าพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) แต่พรรคก็ไม่ได้รับเลือก แล้วค่อยๆ หายไปจากสารระบบการเมืองเองโดยปริยาย  

การตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งในสหรัฐฯต้องใช้เงินทุนสูงมาก เรื่องการหากลุ่มผู้สนับสนุนทางการเงินอาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทรัมป์ เพราะหลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์พากันไปบุกอาคารรัฐสภาเพื่อคว่ำการลงมติรับรองคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง หวังสกัดชัยชนะของนายไบเดน จนกลายเป็นเหตุจลาจลนองเลือด มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ศพ หลังจากวันนั้นกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่เคยสนับสนุนทรัมป์จนร่ำรวยและมีชื่อเสียง ก็ได้พากันตัดความสัมพันธ์กับทรัมป์ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินต่างๆ อย่างน้อย 3-4 แห่ง ที่ประกาศตัดขาดกับบริษัทของทรัมป์ ทำให้ตอนนี้ Trump Organization ถูกโดดเดี่ยว และอยู่ในสถานะรอวันล่มสลาย   

อย่างไรก็ตาม หลังจากแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ตั้งองค์กร Save America ให้กลุ่มผู้สนับสนุนบริจาคเงินเข้าไปเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวล้มผลการเลือกตั้ง หลังจากแผนการนี้ไม่สำเร็จ และยังไม่มีใครรู้ว่าเงินบริจาคกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหายไปไหน แต่เชื่อว่าทรัมป์จะใช้เงินก้อนนี้เคลื่อนไหวสร้างเครือข่าย ก่อตั้งพรรครักชาติขึ้นมา 

...

ความนิยมทรัมป์

หลังทรัมป์ออกจากทำเนียบขาว เรื่องราวต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้พรม ก็ค่อยๆ ถูกเก็บกวาดออกมา โดยเฉพาะความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 เมื่อทีมงานของไบเดนเข้าไปทำงานวันแรกแล้วก็ถึงกับช็อก เพราะพบว่าทีมงานของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่มีการเตรียมแผนกลยุทธ์การแจกจ่ายวัคซีนไว้เลย ทั้งๆ ที่วัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศนานหลายสัปดาห์แล้ว ทำให้พวกเขาไม่มีแนวทางอะไรมาปรับใช้ได้เลย ต้องเริ่มจากศูนย์ในการศึกษาจัดทำแผนงานเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อที่จะให้สามารถนำวัคซีนออกมาใช้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ล่าสุดยังมีการเปิดเผยออกมาว่า ในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนหมดวาระ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ยังพยายามกดดันไปยังกระทรวงยุติธรรมโดยตรง ให้สั่งศาลสูงมีคำพิพากษาให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายโจ ไบเดนชนะ กลายเป็นโมฆะ

ถามว่าจนถึงตอนนี้ยังมีคนสนับสนุนทรัมป์อีกมากน้อยแค่ไหน จากเหตุจลาจลบุกรัฐสภาในคราวนั้นยังทำให้ชาวอเมริกันถึง 54% อยากให้ทรัมป์ออกจากตำแหน่งก่อนพ้นวาระ และช่วงที่พ้นจากตำแหน่ง ทรัมป์มีคะแนนความนิยมตกต่ำที่สุด ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันระหว่างวันที่ 4-15 ม.ค. จัดทำโดย Gallup poll ระบุว่า ชาวอเมริกันพอใจผลงานของประธานาธิบดีทรัมป์เพียง 34% เป็นคะแนนต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค. 2560 

...

ขณะที่คะแนนความนิยมตลอดทั้งเทอมของทรัมป์ เฉลี่ยอยู่ที่ 41% เท่านั้น ต่ำกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนอื่นๆ ที่เคยบริหารประเทศมา  

ความพยายามสกัดการกลับมาของทรัมป์

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกอิมพีชเมนต์ถึง 2 ครั้ง และในครั้งนี้หลังจากผ่านสภาล่างมาแล้วเมื่อวันที่ 14 ม.ค. กระบวนการก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าทรัมป์จะพ้นวาระไปแล้ว

ล่าสุด นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ออกมาระบุว่า ทางวุฒิสภากำลังเตรียมเริ่มกระบวนการไต่สวนความผิดของทรัมป์ในวันที่ 8 ก.พ. ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นญัตติอิมพีชเมนต์ต่อสภาสูงอย่างเป็นทางการแล้ว

โดยพรรครีพับลิกันได้เคลื่อนไหวยื่นขอให้วุฒิสภาพิจารณาเลื่อนการเปิดไต่สวนอิมพีชเมนต์ออกไปเป็นช่วงวันที่ 28 ก.พ. เพื่อให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีเวลาเตรียมตัวในการแก้ต่างข้อกล่าวหา 

...

ขณะที่ภาพความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐสภา ทำให้หลายคนคิดตรงกันว่า การถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ทรัมป์ควรถูกสกัดด้วยกระบวนการทางรัฐสภาทำให้เขาขาดคุณสมบัติทางการเมือง ไม่สามารถกลับมาลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้อีก 

หากจำกันได้หลังเหตุการณ์บุกรัฐสภายุติลง พบว่ากลุ่มที่บุกเข้าไปส่วนใหญ่เป็นตัวแทนกลุ่มขวาจัด ทั้งขบวนการสนับสนุนการเหยียดผิว ต่อต้านผู้อพยพ และกลุ่มสนับสนุนความรุนแรงต่างๆ ที่ถือโอกาสก่อความรุนแรงในนามของทรัมป์ รวมไปถึงชายสวมเขาสัตว์ที่บุกเข้าไปในรัฐสภา หรือนายจาค็อบ แอนโธนี แชนสลีย์ ซึ่งถูกตำรวจจับกุมตัวไปแล้ว ได้เปิดเผยกับสื่อและกับเอฟบีไอว่า การกลับมาของทรัมป์กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเขาและคนอื่นๆ ต่างพร้อมที่จะเข้าร่วมอีก  

ผลกระทบรีพับลิกัน

การที่ทรัมป์จะออกจากพรรครีพับลิกัน พรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีเกียรติประวัติอันยาวนาน แล้วมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ไม่ต่างจากการออกมาตั้งบริษัทขายสินค้าแข่งกับบริษัทใหญ่ที่ตัวเองเคยทำงานด้วย ความพยายามตั้งพรรคการเมืองใหม่ของทรัมป์ จะต้องเจอการสกัดครั้งใหญ่จากพรรครีพับลิกันเอง เพื่อไม่ให้มีการดึง ส.ส.ของพรรคออกไป

หากทรัมป์ตั้งพรรครักชาติของเขาจริงๆ ก็จะเป็นหายนะของพรรครีพับลิกันอย่างไม่ต้องสงสัย ในเมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ส่วนใหญ่เป็นแฟนตัวยง เป็นคนที่เข้ามาเชียร์ทรัมป์โดยเฉพาะ และก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรครีพับลิกันมาก่อนเท่าไรนักในช่วงก่อนที่ทรัมป์เข้ามา และออกแคมเปญหาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2559

หากเพียงแค่ทรัมป์เอ่ยปากบอกให้กลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้ออกมาอยู่กับพรรคของเขา ที่เป็นพรรคทรัมป์จริงๆ อยู่นอกร่มเงารีพับลิกัน ก็น่าจะทำให้คะแนนเสียงส่วนหนึ่งของรีพับลิกันถูกแบ่งแยกออกไปทันที และจะยิ่งน่ากลัวหากว่าส่วนที่แบ่งแยกออกไปเป็นสัดส่วนที่สำคัญสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่

ร้ายแรงกว่านั้นคือการเปิดสงครามระหว่างพรรคของทรัมป์กับพรรครีพับลิกัน ที่อาจจะยาวนานเป็นเดือน หรือเป็นปี อาจจะทำให้รีพับลิกันหมดพลังและหมดโอกาสในการทวงคืนทำเนียบขาวกลับคืนมา   

จนถึงตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทรัมป์กำลังเดินหน้าตั้งพรรครักชาติ และตอนนี้ทรัมป์เริ่มมีการงัดข้อกับพรรครีพับลิกัน ด้วยการออกมาบอกว่า เขาร่างรายชื่อศัตรูในพรรครีพับลิกันไว้แล้ว และจะโค่นคนกลุ่มนี้ในการเลือกตั้งขั้นต้น ในช่วงปี 2565 และตอนนี้ทรัมป์มีเงินทุนประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นทุนสำหรับพรรคใหม่ของเขา.  

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา