“ถือเป็นวันของอเมริกา วันของประชาธิปไตย วันแห่งประวัติศาสตร์และความหวังของการเริ่มต้นใหม่ วันนี้เราไม่ได้ฉลองชัยชนะของผู้สมัครคนหนึ่ง แต่เป็นชัยชนะของอุดมการณ์ประชาธิปไตย”

เป็นคำกล่าวอันสง่างามของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีอาวุโสที่สุดของสหรัฐฯ (78 ปี) ในวันสาบานตนรับตำแหน่ง
ผู้นำคนที่ 46 บนลานทิศตะวันตกรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. เพื่อปลุกขวัญกำลังใจแก่ผองอเมริกันชน ให้หายหดหู่จากบรรยากาศความขัดแย้ง ที่ปกคลุมไปทั่วแดนพญาอินทรี

หลังจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การปลุกปั่นของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องโดนโกงผลเลือกตั้ง ได้ส่งผลให้ประชาชนแตกแยกกันอย่างรุนแรงในรอบหลายทศวรรษ จนนำไปสู่เหตุการณ์อัปยศ วันที่ 6 ม.ค. อาคารรัฐสภา ถูกบุกรุกล่วงละเมิดในรอบกว่า 200 ปี

จึงไม่แปลกที่ผู้นำคนใหม่ จะพยายามเรียกร้องความเป็น “เอกภาพ” โดยระบุว่า “การเมืองไม่เห็นต้องเป็นไฟที่ลุกโหม ทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ความเห็นขัดแย้งไม่จำเป็นต้องนำไปสู่เหตุให้รบราฆ่าฟันกัน” แต่แน่นอน เจ้าตัวอาจรับรู้อยู่ในใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากการหลีกเลี่ยงไม่ตอบนักข่าวเมื่อถูกถามว่า ท่านประธานาธิบดีครับ ท่านคิดว่าจะสามารถทำให้คนในประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่

มีนักวิเคราะห์มองประเด็นไว้น่าสนใจว่า การเรียกร้องความเป็นเอกภาพในชาติบ้านเมือง ย่อมมาพร้อมกับ “ความคาดหวังว่าเอกภาพควรเป็นเช่นไร” เช่นความคาดหวังในกรอบแนวคิดที่ว่า การจะมีเอกภาพได้นั้น คนที่มีเหตุมีผล มีสติปัญญา ไม่ควรที่จะแสดงความเห็นต่างในเรื่องนั้นๆ หรือไม่ควรมาคัดค้านเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญทางสังคม แต่แน่นอนสิ่งนี้ถือเป็น “กับดัก” ภายในตัวมันเอง และทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นไปอีก เนื่องจากจะมีกลุ่มคนที่คิดว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำไมถึงเป็นตัวถ่วงความเจริญ

...

และประการต่อมา สังคมของสหรัฐฯ ไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไป อย่างเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ สภาพแวดล้อมของ “สื่อมวลชน” ในปัจจุบัน ไม่ได้พยายามบ่มเพาะ “ฉันทามติ” (Consensus) หรือบังคับให้เกิดฉันทามติ (แล้วแต่จะมอง) แก่สังคม เหมือนในยุคก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีเพียงแค่สถานีโทรทัศน์ไม่กี่ช่อง หนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ มีสื่อทางเลือกมากมาย ขณะที่สื่อกระแสหลักก็มีแนวทางการนำเสนอต่างๆนานา ผิดจรรยาบรรณบ้างก็มี

นอกจากนี้ พรรคการเมืองแดง-น้ำเงิน ก็ไม่ได้ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น ผู้ทรงเกียรติทั้ง หลายพากันช่วยโหมกระแสความขัดแย้ง จ้องเล่นงานขัดแข้งขัดขากันเอง โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยากที่จะเชื่อมติดกันได้ เพียงแค่การแสดงความปรารถนาดีต่อกันและกัน

ขณะที่ตัวไบเดนเอง แน่นอนว่าไม่อยู่ในจุดที่สามารถสร้างฉันทามติแก่สังคม เพราะเป็นคนของพรรคเดโมแครต เป็น จุดศูนย์กลางของพรรคเดโมแครต ที่มีแนวคิดไปในทางเอียงซ้าย หรือสายก้าวหน้า สังคมเสรีนิยม ทั้งยากที่จะทำให้บรรยากาศการเมืองเย็นลง เนื่องด้วยการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และสัดส่วน 50–50 เสียงในวุฒิสภา ที่หากผ่านร่างกฎ-หมายด้วยเสียงเท่ากันในขั้นตอนวุฒิฯ จะต้องให้คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเสียงชี้ขาด ซึ่งย่อมสร้างความขุ่นเคืองแก่พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน และถูกตอบโต้ทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ยังไม่รวมถึงเสียงเรียกร้องอื่นๆให้แก้ปัญหาคาราคาซังของบ้านเมือง เช่นเรื่องแนวคิดหัวรุนแรงในกองทัพสหรัฐฯ แนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่ ปัญหาเหยียดเชื้อชาติผิวสี ความไม่สมดุลของค่าครองชีพและความเป็นอยู่ ที่ยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาทวงถามว่าประธานาธิบดีไบเดนจะทำเช่นไร

หรือดราม่าทางการเมือง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. จากกรณีวุฒิสภารอรับญัติการโหวตถอดถอน หรือ “อิมพีชเมนต์” เพื่อสร้างตราบาปแก่อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” และการลงมติวาระแยก ตัดสิทธิทางการเมือง กันไม่ให้ทรัมป์กลับมาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 2 หรือรับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลได้อีก อันย่อมจะสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มผู้สนับสนุน ที่เชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า ทรัมป์ถูก “ปล้นชัยชนะ” ไปอย่างน่าเกลียด

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้มองโลกในแง่บวกไว้ย่อมดีกว่า ขอแค่เพียงโจ ไบเดน ไม่ทำตัวป่วนไปทั่วเหมือนสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ หยิบยกธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆ หรือระบบโปรโตคอลการทำงานที่ถูกโละทิ้งไปกลับมาใช้ดังเดิม ให้คนรู้สึกโล่งใจ ให้รีพับลิกันได้ปรับตัวเหมือนปลาเปลี่ยนน้ำ

ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองลงไปได้.

วีรพจน์ อินทรพันธ์