• ในปีที่ผ่านมา เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ทุกคนจะนึกถึงทันทีเมื่อพูดถึงปี 2020 คงหนีไม่พ้นเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วนับล้านคน

  • ปีเดียวกันนี้ยังเกิดเหตุการณ์ทางทหาร ที่เกือบจะลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคขึ้นถึง 3 ครั้ง แต่เคราะห์ดีที่สุดท้ายแล้ว สถานการณ์ไม่เกินเลยไปถึงขั้นนั้น

  • ปี 2020 ยังเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ไล่ตั้งแต่สถานการณ์ในฮ่องกง, การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรด้วย

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับปีพ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 ปีแห่งความวุ่นวายสำหรับคนทั่วโลก ซึ่งไทยรัฐออนไลน์จะพาย้อนกลับไปดูว่า ตลอดปีที่ผ่านมานั้น เกิดเหตุการณ์ใหญ่อะไรขึ้นบนโลกใบนี้บ้าง

1. โควิด-19 ระบาดโลก

หากพูดถึงปี 2020 เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึงสิ่งเดียวกันคือ การระบาดของไวรัสมรณะที่ชื่อว่า “ซาร์ส-โควี-2” หรือเรียกกันติดปากว่าไวรัส “โควิด-19” ซึ่งเริ่มแพร่กระจายในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนจะลุกลามไปทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม และจนถึงตอนนี้พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 84 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วไปไม่น้อยกว่า 1,830,000 ศพ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้ง ไทย ต้องใช้มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านในยามวิกาล ไปจนถึงสั่งห้ามออกจากบ้านอย่างสิ้นเชิงยกเว้นในกรณีจำเป็น ซึ่งช่วยควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ แม้จะผ่านพ้นปี 2020 ไปแล้ว การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยังคงรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่ แต่ตอนนี้โลกมีวัคซีนต้านโควิด-19 หลายตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานแล้ว และกำลังแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าปีใหม่นี้ จะเป็นปีที่มนุษย์ตอบโต้กลับ และเอาชนะไวรัสมรณะตัวนี้ได้ในที่สุด

...

2. สหรัฐฯ ลอบสังหารนายพลอิหร่าน เกือบจุดชนวนสงคราม

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. พลเอก คาเซม โซเลมานี เจ้าหน้าที่กองทัพคนสำคัญของอิหร่าน ถูกลอบสังหารโดยกองกำลังของสหรัฐฯ ตามคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่กระทบกระทั่งกันมาตลอดตั้งแต่พฤษภาคมปีก่อน พุ่งถึงจุดสูงสุด อิหร่านตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการโจมตีฐานทัพอเมริกันในอิรัก 2 จุด และมีการเคลื่อนกำลังอาวุธไปตามจุดต่างๆ ในขณะที่สื่อในประเทศต่างพาดหัวว่า “นี่คือสงคราม” จนเกิดความกังวลว่า จะเกิดการต่อสู้เต็มรูปแบบในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม กระแสความเดือดดาลของอิหร่านเงียบหายไปในทันที หลังเกิดเหตุ เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ 752 ของสายการบิน ยูเครน อินเทอร์เนชันแนล แอร์ไลน์ส ถูกยิงตกในเขตกรุงเตหะราน เมื่อ 8 ม.ค. ในตอนแรกอิหร่านปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ พวกเขาก็ออกมายอมรับว่า ยิงเครื่องบินลำนี้ตกจริงเพราะความผิดพลาดของมนุษย์ และดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด

จากวันนั้นจนถึงตอนนี้ อิหร่านไม่ได้เคลื่อนไหวโจมตีสหรัฐฯ อีกเลย แต่ใช่ว่าพวกเขาจะล้มเลิกความคิดล้างแค้นให้กับนายพลโซเลมานี ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อว่าอิหร่านจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

3. การประท้วง จอร์จ ฟลอยด์

เมื่อ 26 พ.ค. ชายผิวดำวัย 46 ปี ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวงเมืองมินนิแอโพลิส ในสหรัฐฯ จับกุม ก่อนจะมีคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่า นายฟลอยด์ถูกเจ้าหน้าที่ให้นอนคว่ำหน้า และใช้เข่ากดคอของเขานานเกือบ 8 นาที โดยไม่สนเสียงของชาวคนนี้ที่พยายามร้องขอชีวิต

กรณีคนผิวดำเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจจับกุมในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และการเสียชีวิตของนายฟลอยด์ ก็กลายเป็นตัวจุดระเบิดความโกรธของประชาชน ที่ทนกับการเหยียดผิว และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ไม่ได้อีกต่อไป ผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมในเมืองมินนิแอโพลิส ก่อนการประท้วงจะแพร่กระจายไปมากกว่า 2,000 เมืองใน 60 ประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และช่วงหนึ่งในสหรัฐฯ มีผู้ออกมาชุมนุม 15-26 ล้านคน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ แต่หลายเมืองที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงและการจลาจล อย่างน้อย 200 เมืองในสหรัฐฯ ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิว ขณะที่ทหารกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมากกว่า 96,000 นาย ถูกส่งไปควบคุมการประท้วงใน 30 รัฐทั่วประเทศ นับเป็นการเคลื่อนกำลังพลที่ไม่ใช่ในช่วงสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีผู้ถูกจับกุมราว 14,000 คน

การประท้วงครั้งนี้นำไปสู่การเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆ เพื่อควบคุมประพฤติมิชอบของตำรวจ และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติมากมาย ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง, ระดับรัฐ และระดับเขต ขณะที่อนุสรณ์สถานของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสหลายจุดทั่วโลก ถูกผู้ประท้วงรื้อทำลาย หรือถูกถอนออกไป และจนถึงตอนนี้ยังมีการประท้วงขนาดย่อมเกิดขึ้นในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

...

4. จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เผชิญกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2563 จนในที่สุด จีนแผ่นดินใหญ่ก็ทนไม่ไหว และบังคับใช้ ‘กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ’ ฮ่องกงในวันที่ 30 มิ.ย. ท่ามกลางเสียงประณามจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคู่สัญญารับรองสิทธิปกครองตนเองของฮ่องกง

กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้จีนสามารถเข้ามาควบคุมระบบตุลาการที่เคยเป็นอิสระของฮ่องกงได้ มีข้อกำหนดที่ควบคุมการประท้วงอย่างเบ็ดเสร็จและวางบทลงโทษอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมี มาตรา 38 ที่ระบุว่า กฎหมายนี้จะมีผลต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองถาวร หรือไม่ได้อาศัยอยู่ในฮ่องกง ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีผลต่อทุกคนบนโลก

จนถึงตอนนี้ มีแกนนำที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงฮ่องกงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกจับกุมไปแล้วหลายสิบคน รวมทั้งนาย โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคนดัง นอกจากนี้ ส.ส. กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน 4 คนถูกตัดสิทธิ์การเป็นส.ส. ฐานไม่ยอมรับอธิปไตยของจีน ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านทั้งหมดประกาศลาออกตาม เพื่อเป็นการประท้วงด้วย

...

5. ระเบิดครั้งใหญ่ที่เบรุต

ในช่วงเย็นของวันที่ 4 ส.ค. จู่ๆ ก็เกิดเหตุระเบิดรุนแรงขึ้นที่ท่าเรือในกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศ เลบานอน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างรัสมีกว่า 10 กม. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 204 ศพ บาดเจ็บราว 6,500 ราย บ้านเรือนจำนวนมากพังทลายหรือได้รับความเสียหาย ประชาชนกว่า 300,000 ชีวิตต้องไร้ที่อยู่

การระเบิดครั้งนี้รู้สึกได้ถึงในประเทศตุรกี, ซีเรีย, อิสราเอล, ปาเลสไตน์ และบางพื้นที่ในยุโรป ขณะที่เสียงระเบิดส่งไปไกลถึงไซปรัส ที่ห่างออกไปมากกว่า 240 กม. ขณะที่สำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ (USGS) ตรวจจับได้ว่า แรงระเบิดสร้างแรงสั่นสะเทือนรุนแรงเทียบเท่าแผ่นดินไหวระดับ 3.3 แมกนิจูด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการระเบิดที่ไม่ได้เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

การสืบสวนในเวลาต่อมาทำให้รู้ว่า การระเบิดมีต้นตอจากสาร แอมโมเนียม ไนเตรท กว่า 2,750 ตัน ที่เก็ยอยู่ในโกดังหลังหนึ่งมานานถึง 6 ปี หลังจากยึดได้จากเรือสินค้าที่ถูกทิ้งชื่อว่า ‘MV Rhosus’ โดยที่ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม ทำให้ประชาชนซึ่งไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชันในรัฐบาลอยู่แล้ว รู้สึกโกรธแค้นและออกมาเดินขบวนประท้วง จนประธานาธิบดี ฮัสซัน ดิอับ ประกาศลาออกและยุบสภา

...

6. สงคราม นากอร์โน-คาราบัค

นากอร์โน-คาราบัค เขตปกครองตนเองใน อาเซอร์ไบจาน แต่ควบคุมโดยกลุ่มชาติพันธ์ุชาวอาร์เมเนีย เป็นพื้นที่พิพาทที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่อสู้แย่งชิงกันมานานนับร้อยปีแล้ว และเกิดการปะทะกันประปรายตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทั่งวันที่ 27 ก.ย. เกิดการต่อสู้รุนแรงใน นากอร์โน-คาราบัค และบานปลายกลายเป็นสงครามภายในครั้งใหม่

การต่อสู้ยืดเยื้อนานถึง 44 วัน ก่อนจะยุติลงในวันที่ 10 พ.ย. หลังจากรัสเซียเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ กองทัพฝ่ายอาร์เมเนียตกลงคืนดินแดนที่พวกเขาเคยยึดครองนอก นากอร์โน-คาราบัค ทั้งหมด และให้อาร์เซอร์ไบจานครอบครองดินแดนที่ยึดครองได้ระหว่างการต่อสู้ นับเป็นชัยชนะของฝ่ายอาเซอร์ไบจานอย่างแท้จริง แต่พวกเขาก็ต้องแลกชัยชนะครั้งนี้มาด้วยชีวิตของทหาร 2,822 นาย ที่สละชีพในการรบ ส่วนฝ่ายอาร์เมเนีย มีทหารเสียชีวิตถึง 3,330 นาย ขณะที่มีผู้พลัดถิ่นรวมกันมากกว่า 140,000 คน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำข้อตกลงหยุดยิง แต่การต่อสู้ยังเกิดขึ้นประปราย จนในวันที่ 11 ธ.ค. เกิดการปะทะบริเวณหมู่บ้าน ฮิน แทกเกอร์ (Hin Tagher) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนียในคาราบัค ก่อนที่อาเซอร์ไบจานจะยึดหมู่บ้านที่ว่าไป ทำให้ยังไม่แน่ชัดว่า สงครามครั้งนี้จะยุติลงได้จริงๆ เมื่อไร

7. ก่อการร้าย ฆ่าตัดคอครูฝรั่งเศส

วันที่ 16 ต.ค. เกิดคดีสะเทือนขวัญซึ่งสร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เมื่อนายซามูเอล ปาตี ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์วัย 47 ปี ของโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่ง ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมด้วยการตัดคอ โดยฝีมือของนายอับดุลลัค อาบูเยโดวิช อันโซรอฟ วัยรุ่นวัย 18 ปี ซึ่งอพยพมาจากเชชเนียในรัสเซีย

ปมสังหารโหดในครั้งนี้ มาจากการที่นายปาตี ใช้ภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด ของศาสนาอิสลาม เป็นสื่อการสอนเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออก แต่เรื่องนี้ทำให้ผู้ปกครองหลายคนไม่พอใจ ถึงกับเปิดเผยชื่อของนายปาตี และที่ตั้งโรงเรียนผ่านโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ มาร่วมประท่วง แต่นี่ก็ทำให้คนร้ายรู้ข้อมูลของนายปาตีไปด้วย หลังเกิดเหตุ มีผู้ถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 16 คน รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองที่เป็นคนชี้เป้าให้คนร้าย

การฆาตกรรมครั้งนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์ุระหว่างฝรั่งเศสกับชาติมุสลิมโดยเฉพาะตุรกีย่ำแย่ลง เนื่องจากประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศสนับสนุนนายปาตีและเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ผู้นำตุรกี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน โจมตีนายมาครงอย่างรุนแรง ที่ไม่สนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนา และบอกให้เขาไปตรวจสุขภาพจิต จนฝรั่งเศสตัดสินใจเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศทันที

8. สงครามภายใน เอธิโอเปีย-ทิเกรย์

สงครามภายในของเอธิโอเปียครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการแย้งชิงอำนาจทางการเมือง เมื่อนายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด จัดการควบคุมกลุ่มพรรคการเมืองระดับภูมิภาคและชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ‘กลุ่มแนวหน้าประชาชนปฏิวัติประชาธิปไตยเอธิโอเปีย’ ที่บริหารประเทศมา 30 ปึ เป็นพรรคการเมืองใหม่ ชื่อ ‘พรรครุ่งโรจน์’ แต่ ‘กลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยประชาชนทิเกรย์’ (TPLF) ในภาคเหนือและเรืองอำนาจมาตลอดช่วง 30 ปีดังกล่าว ปฏิเสธจะเข้าร่วม

สถานการณ์ในเอธิโอเปียตึงเครียดขึ้นเมื่อ TPLF ฝืนคำสั่งรัฐบาล จัดการเลือกตั้งในเดือนกันยายน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งที่ทิเกรย์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และสั่งห้ามนักข่าวเข้าไปทำข่าวการเลือกตั้ง ก่อนที่การต่อสู้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 พ.ย. ด้วยการโจมตีฐานบัญชาการภาคเหนือ และ สำนักงานใหญ่กองกำลังป้องกันแห่งชาติเอธิโอเปีย ในทิเกรย์ ซึ่งรัฐบาลกล่าวหา TPLF ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

การโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้นายกฯ อาบีย์ ประกาศสงครามกับทิเกรย์ และตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ในภูมิภาคไทเกรย์ทันที ก่อนจะสั่งเคลื่อนกำลังพลเข้าโจมตี โดยการต่อสู้ดำเนินไปนายเกือบ 1 เดือน แต่โลกภายนอกไม่อาจรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในได้เลย นอกจากการประกาศของฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่าย TPLF

กระทั่งในวันที่ 28 พ.ย. กองทัพรัฐบาลก็สามารถเข้ายึดเมือง เมเคลเล เมืองเอกของภูมิภาคทิเกรย์ได้สำเร็จ และนายกรัฐมนตรี อาบีย์ ก็ประกาศยุติปฏิบัติการทางทหารในทิเกรย์ แต่ฝ่าย TPLF ประกาศกร้าวว่า พวกเขาจะสู้ต่อไปจนกว่าจะสามารถขับไล่ผู้รุกรานออกไปได้

9. เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดประจำปี 2020 เป็นแน่ เพราะเป็นการตัดสินระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีฝีปากกล้า ที่ชาวอเมริกันทั้งรักและเกลียด กับนาย โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มีประสบการทางการเมืองเกือบ 50 ปี ที่หลายคนตั้งคำถามว่า แก่เกินกว่าจะมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ หรือไม่

ในตอนแรกนายไบเดนเป็นรองนายทรัมป์อยู่มาก แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประท้วง จอร์จ ฟลอยด์ ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด นายไบเดนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อย่างขาดลอด ด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 306 ต่อ 232 และมีหลายรัฐที่เคยเลือกนายทรัมป์เมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน หันไปสนับสนุนนายไบเดนแทน

แต่ผลคะแนนในรัฐสวิงสเตต ออกมาคู่คี่สูสีมาก ทำให้นายทรัมป์ส่งสมุนเดินสายฟ้องศาล พร้อมกับประโคมเรื่องการโกงเลือกตั้งต่างๆ นาๆ และแสดงความกังขาเรื่องความโปร่งใสของการลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งนายไบเดนได้คะแนนไปอย่างท่วมท้น เนื่องจากเขารณรงค์ให้คนใช้สิทธิ์วิธีนี้เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยที่นายทรัมป์ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาของเขาเลย และในที่สุดการฟ้องร้องของเขาก็ไม่สำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว

10. เบร็กซิตเสร็จสิ้น

ในที่สุด สหราชอาณาจักรก็ได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต อย่างเต็มตัวแล้ว หลังจากรอคอยมานานถึง 6 ปี โดยพวกเขาอยู่ภายใต้กฎของ EU เป็นวันสุดท้ายเมื่อ 31 ธ.ค. ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2021 พร้อมกับชีวิตใหม่ ที่พวกเขาสามารถกำหนดนโยบายทางการค้าด้วยตัวเองได้เป็นครั้งแรก

การออกจากสหภาพยุโรปหมายความว่า สหราชอาณาจักรจะไม่ได้เป็นสมาชิกตลาดเดียวของ EU อีกต่อไป แต่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันแล้ว ซึ่งดูเหมือนจะพอใจด้วยกันทั้งคู่ แต่ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในด้านการเดินทาง และขนส่งสินค้าระหว่าง UK กับ EU ที่ไม่สามารถทำได้อย่างไร้รอยต่อเหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่พิธีการทางศุลกากรก็จะเข้มงวดขึ้นด้วย

กระบวนการเบร็กซิตถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปก็ไม่ได้ตัดขาดกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังต้องเจรจาความร่วมมือกันอีกหลายเรื่อง ขณะที่ข้อตกลงการค้าก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกๆ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ชาว UK ได้ก้าวออกจากเขตปลอดภัยที่เรียกว่า EU เข้าสู่เขตแดนที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อนเกือบ 50 ปี ซึ่งจะดีหรือร้าย ต้องจับตาดูกันต่อไป


ผู้เขียน: H2O