หน่วยงานกำกับดูแลยาฯ UK อนุมัติให้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมกับบ.เอสตราเซเนกาแล้ว เป็นชนิดที่ 2 ต่อจากไฟเซอร์ ขณะที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 24 ชม.สูงสุด กว่า 5.3 หมื่น


เมื่อ 30 ธ.ค.63 นายแมต แฮนค็อค รมว.สาธารณสุขสหราชาอาณาจักร แถลงข่าวหน่วยงานกำกับดูแลยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ MHRA ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทเอสตาเซเนกา ในสหราชอาณาจักรแล้ว นับเป็นวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ชนิดที่ 2 ต่อจากวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ร่วมกับบริษัทไบออนเทค ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสหราชอาณาจักร

นายแฮนค็อค กล่าวว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้สั่งวัคซีนต้านโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-เอสตราเซเนกา จำนวน 100 ล้านโดสแล้ว เพื่อต้องการให้เพียงพอสำหรับประชาชน 50 ล้านคน และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งจะทำให้ขณะนี้ ปริมาณวัคซีนที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรสั่งจากบริษัทไฟเซอร์และออกซ์ฟอร์ดเพียงพอต่อประชาชนทั้งหมดในสหราชอาณาจักร

รมว.สาธารณสุขสหราชอาณาจักรกล่าวด้วยความยินดีที่วัคซีนต้านโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-เอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติว่า จะทำให้สหราชอาณาจักรผ่านพ้นจากวิกฤติโควิด-ในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึง ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันได้เรียกการพัฒนาวัคซีนนี้ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า เป็นชัยชนะของวงการวิทยาศาสตร์อังกฤษ และรัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวนมากโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

...

สำหรับการอนุมัติวัคซีนต้านโควิดคิดค้นโดยออกซ์ฟอร์ด-เอสตราเซเนกา มีขึ้นขณะที่ทางการยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหราชอาณาจักร ภายใน 24 ชม.ของวันอังคารที่ 29 ธ.ค.สูงถึง 53,135 ราย นับเป็นสถิติสูงสุด จนทำให้รัฐบาลเตรียมจะยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ขึ้นเป็นระดับเทียร์ 4 ในพื้นที่ 2 ใน 3 ของอังกฤษ

บีบีซีรายงาน วัคซีนต้านโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-เอสตราเซเนกานั้น เป็นไวรัสไข้หวัดธรรมดา ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมที่เคยทำให้ลิงชิมแปนซี ติดเชื้อ โดยการดัดแปลงพันธุกรรมเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อในคน ซึ่งไวรัสนี้จะเป็นพาหะนำพิมพ์เขียวชิ้นส่วนการผลิตโปรตีนหนาม หรือสไปก์ โปรตีน เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ เมื่อพิมพ์เขียวเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของคนแล้ว พวกมันก็จะเริ่มผลิตโปรตีนหนาม ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำไว้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย และพยายามจะกำจัดออกไป หากถึงเวลาเมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 จริงๆ เกิดขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถกำจัดโควิด-19 เหล่านี้

เดลี่เมลระบุว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเอสตราเซเนกาได้รายงานข้อมูลผลการทดสอบวัคซีนนี้ ในเฟส 3 เมื่อต้นเดือน ธ.ค.63 ว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดอยู่ที่ 62% โดยการทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัคร 4,440 คน ที่ได้รับวัคซีนมาตรฐาน 2 โดส เมื่อเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนหลอก 4,445 คน

ทว่าจากการทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัคร 1,365 คน ซึ่งได้รับวัคซีนนี้ครึ่งโดส ในการฉีดครั้งแรก ตามด้วยการฉีดครั้งที่ 2 จำนวนเต็มโดส กลับพบว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้สูงถึง 90% เมื่อเปรียบเทียบกับ‘กลุ่มควบคุม’จำนวน 1,374 คน 

นอกจากนั้น วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด ยังสามารถเก็บรักษาได้ง่ายกว่าในตู้เย็นที่อุณหภูมิ2-8 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนต้านโควิดของบริษัทไฟเซอร์ ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิ-70 องศาเซลเซียส และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิ-20องศาเซลเซียส

ที่มา : Dailymail , BBC