ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มองหาวิธีลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจบางประเภทมากขึ้นโดยเฉพาะการขนส่ง หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมการบินที่มีส่วน 12% ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินเป็นเรื่องท้าทายอันเนื่องจากความยากลำบากในการติดตั้งแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักมากภายในเครื่องบิน
ล่าสุด ทีมวิจัยหลายแห่งในสหราชอาณาจักรและในซาอุดีอาระเบีย รายงานในวารสาร Nature Communications ว่าได้พัฒนากระบวนการทางเคมีสันดาปสารอินทรีย์เพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ให้กลายเป็นน้ำมันอากาศยานหรือน้ำมันเครื่องบินรวมถึงสารที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีอื่นๆ วิธีการนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเหล็กด้วยการเพิ่มโปแตสเซียมและแมงกานีส พร้อมด้วยไฮโดรเจน กรดซิตริก และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ร้อนถึง 350 องศาเซลเซียส กระบวนการนี้บังคับให้อะตอมของคาร์บอนแยกจากอะตอมของออกซิเจน และผูกมัดกับอะตอมของไฮโดรเจน สร้างโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบด้วยน้ำมันเครื่องบินเหลว กระบวนการนี้ยังทำให้เกิดการสร้างโมเลกุลของน้ำและสารที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีอื่นๆ
นักวิจัยยังอ้างว่ากระบวนการนี้มีราคาไม่แพงกว่าวิธีการอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าระบบแปลงดังกล่าวสามารถติดตั้งในโรงงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในปัจจุบันอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เช่นกัน.