ช่วงนี้เรื่องของ “ดวงจันทร์” จะเข้ามาอย่างหนาหูหน่อย เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ มหาอำนาจอย่างจีนก็เพิ่งส่ง ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 (Chang’e 5) ไปดวงจันทร์ เพื่อเก็บตัวอย่างหินและดินบนพื้นผิวดวงจันทร์กลับมาศึกษายังโลก ขณะที่ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 (Chang’e 4) ยังปฏิบัติงานอยู่บนด้านไกลของดวงจันทร์ แล้วยังมีข่าวคราว โครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ขององค์การนาซาที่มีแผนส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ในปี พ.ศ.2567

ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การนาซาก็เผยว่าเครื่องบินสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในชั้นบรรยากาศสตรา โตสเฟียร์หรือกล้องโทรทรรศน์ลอยฟ้า “โซเฟีย” (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy-SOSIA) ตรวจพบโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านที่แสงอาทิตย์ส่องซึ่งเป็นด้านที่เรามองเห็นจากโลก นั่นหมายถึงว่าอาจมีน้ำกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นผิวดวงจันทร์ ทำให้เล็งเห็นว่านี่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ และการค้นพบนี้ยิ่งตอกย้ำถึงเป้าหมายของนาซาว่าทำไมต้องหวนคืนภารกิจกลับสู่ดวงจันทร์

เพราะย้อนไปก่อนหน้านั้นก็ต้องบอกว่าดวงจันทร์เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่ใครต่อใครต่างจ้องตาเป็นมัน และก็อยากจะเข้าครอบครองมีบริษัทเอกชนหลายแห่งยื่นข้อเสนอขอทำสัมปทานเหมืองแร่บนดวงจันทร์ เพื่อขนทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาโลกโดยเฉพาะแร่ฮีเลียม-3 ที่เป็นไอโซโทปของฮีเลียม ว่ากันว่านี่คือพลังงานที่ยั่งยืนแห่งอนาคต เนื่องจากสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มหาศาล นำมาใช้งานกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้แถมไม่ก่อสารกัมมันตภาพรังสี

แต่อย่างที่รู้กันว่าความต้องการครอบครองไม่ได้จำกัดอยู่ชาติใดชาติหนึ่ง นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาก็ยังมีชาติอื่นๆส่งยานขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ ทำให้ต้องออกกฎหมายอวกาศขึ้นมาทั้ง “สนธิสัญญาอวกาศ”,“สนธิสัญญาจันทรา” แต่ก็มีกฎหมายที่เปิดทางให้บริษัทเอกชนด้วยเช่นกัน อย่างกฎหมายส่งเสริมการแข่งขันและธุรกิจเอกชนในอวกาศ ซึ่งเอกชนสามารถสำรวจทรัพยากรบนดวงจันทร์และเทห์ฟากฟ้าอื่นๆ เช่น ดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาตได้

...

นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ดและสมิธโซเนียนในสหรัฐฯเผยว่าการขาดนโยบายและข้อตกลงระหว่างประเทศอาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียด เกิดความแออัดยัดเยียด และเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของโครงการขุดสำรวจบนดวงจันทร์ ซึ่งการเป็นคู่แข่งหาทรัพยากรบนดวงจันทร์อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและบริษัทเอกชน เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือทุกคนต่างกำหนดเป้าหมายไปที่พื้นที่และทรัพยากรเดียวกัน

เรียกว่าความขัดแย้งที่คุกรุ่นจากอดีตมาถึงปัจจุบันส่อเค้าลางปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆแล้ว.

ภัค เศารยะ