นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรเบลเยียมและราชรัฐลักเซมเบิร์ก และเอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์นายบุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำประเทศเบลเยียม ถึงท่าทีของสหภาพยุโรปต่อสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนในฐานะที่สหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งมีประเทศสมาชิกในทวีปยุโรป 27 ประเทศ และมีประชากรจำนวนประมาณ 450 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญ และความคืบหน้าของการเจรจา FTA ไทย-อียู การเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าเข้า EU การจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งในเรื่องปัญหาประมง IUU การปรับตัวของนักธุรกิจไทยในเบลเยียมภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด 19 และการให้ความช่วยเหลือคนไทยในเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก

1.ท่าทีของสหภาพยุโรปด้านการเมือง การค้า และการลงทุน ต่อประเทศไทย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 จวบจนถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

เอกอัครราชทูตมนัสวี : ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ของไทย สหภาพยุโรปได้ออกข้อมติของที่ประชุมคณะมนตรีด้านการต่างประเทศ (Foreign Affairs Council - FAC) เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2562 แสดงเจตนารมณ์ในการกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับไทย รวมทั้งแสดงความพร้อมการลงนามความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement - PCA) รวมทั้งการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(Free Trade Agreement - FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งการเจรจาได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องในท่าทีของสหภาพยุโรปที่พร้อมจะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับไทยในทุกด้านภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสหภาพยุโรปเองก็มีคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เช่นกัน

...

ทั้งนี้ ระดับการเมืองของทั้งสองฝ่ายได้มีการติดต่อ และพบปะหารือกันด้วยแล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้มีโอกาสพบปะหารือกับรองประธาน และผู้แทนระดับสูงของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการต่างประเทศ รวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนา เมื่อต้นปี 2563 ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของทั้งสองฝ่ายมีการประชุมหารือกันทั้งในกรอบการเมือง การค้า การป่าไม้ แรงงานและอื่นๆ อีกหลายด้าน สำหรับการค้าและการลงทุน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเมื่อปี 2562 ปริมาณการค้าไทย-อียู คิดเป็น 38 พันล้านยูโร (1.4 ล้านล้านบาท) ในขณะที่อียูเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับที่ 4 ของไทย

 เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม มนัสวี ศรีโสดาพล ให้สัมภาษณ์ บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม
เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม มนัสวี ศรีโสดาพล ให้สัมภาษณ์ บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม

2.การที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ดำเนินการตามหลักการดังกล่าวเสมอมา สหภาพยุโรปมีการติดตามพัฒนาการคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย อันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรปมากน้อยเพียงใด

เอกอัครราชทูตมนัสวี : เข้าใจว่าสหภาพยุโรปติดตามพัฒนาการในทั่วโลกทั้งในมิติความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และประเด็นค่านิยมที่ยึดมั่นซึ่งหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นหลักการสากลที่ทั้งไทยและสหภาพยุโรปยึดถือด้วยกัน และในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้ยึดถือหลักการดังกล่าวภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีเหตุอันใดที่เรื่องนี้จะเป็นข้อกังวลต่อสหภาพยุโรปเป็นพิเศษที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทยกับหน่วยงานต่างๆ ของอียูอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีเวทีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-อียู ที่ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องนี้ได้ โดยหากฝ่ายอียูมีข้อห่วงกังวลในประเด็นใดก็สามารถยกหารือซึ่งฝ่ายไทยก็พร้อมให้ข้อมูลและชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและให้ได้มุมมองที่สมดุล

3. แนวโน้มการฟื้นฟูการเจรจาความตกลงด้านการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป พัฒนาการ กรอบเวลาและเป้าหมายการบรรลุข้อตกลง ท่าทีและความพร้อมของฝ่ายไทย

เอกอัครราชทูตมนัสวี : ทั้งไทยและสหภาพยุโรปต่างเห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจา FTA โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือกันเป็นระยะเพื่อสำรวจความต้องการและความคาดหวังของกันและกันก่อน ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ในระหว่างจัดทำผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจา FTA โดยมีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทาย ในขณะเดียวกันสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จัดงาน Thai Trade Talks ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของตัวแทนภาคธุรกิจยุโรปเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า ภาคธุรกิจฝ่ายยุโรปมีความสนใจอย่างมากที่จะให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาในโอกาสแรก
 

...

4.ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป ภายหลังข้อตกลง FTA ข้อเสนอแนะต่อภาคเอกชนไทยในการปรับตัวและตัวรับการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสุขอนามัย เพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป

เอกอัครราชทูตมนัสวี : ตามข้อมูลที่ได้รับทราบจากบทสัมภาษณ์สื่อของท่านอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า การทำ FTA กับสหภาพยุโรปจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปสหภาพยุโรป เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายสหภาพยุโรปก็ต้องการให้ไทยเปิดตลาดแก่สินค้าและบริการของสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากสหภาพยุโรปเข้าไทยเพิ่มขึ้น เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เมล็ดพืชน้ำมัน และสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น

ในขณะนี้ สหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายสีเขียว (European Green Deal) และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (digitalization) โดยจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่ๆ ออกมาอีกหลายอย่างเพื่อรองรับการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งสหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรฐานเหล่านี้ในการเจรจา FTA รุ่นใหม่กับทุกประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่องกฎและมาตรฐาน ตลอดจนกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับนโยบายสีเขียวและความยั่งยืน อาทิ มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ความปลอดภัยด้านอาหาร การเกษตรปลอดสารพิษ รวมทั้งมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ในส่วนของภาคบริการ ควรทำความคุ้นเคยกับกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) และติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น กฎหมาย AI ภาษีดิจิทัล กฎหมาย Digital Service Act ที่กำลังออกมาในเร็วนี้ด้วย โดยสามารถติดตามพัฒนาการเหล่านี้ได้ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก Thaieurope.net ของสถานเอกอัครราชทูต

...

5. ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ที่ไทยเคยถูกสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองตั้งแต่ปี 2558 และได้รับการปลดล็อกเป็นใบเขียวไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 หากว่า เมื่อปลายปี 2562 สหภาพยุโรปได้ตักเตือนไทยให้ปรับปรุงความเข้มงวดในเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และอาจได้รับใบเหลืองในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) อีกครั้ง

เอกอัครราชทูตมนัสวี : ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงรายใหญ่ของโลกจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งประจักษ์ชัดจากการที่ไทยสามารถแก้ไขปัญหาประมง IUU และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนได้รับการปลดใบเหลือง โดยที่ไทยมีคณะกรรมการระดับชาติและคณะทำงานระดับท้องถิ่นคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด จึงเชื่อว่ารัฐบาลและภาคการประมงของไทยจะยึดมั่นต่อการทำประมงอย่างยั่งยืนและยึดมาตรฐานสากลเพื่อรักษาทรัพยากรในทะเลให้มีความยั่งยืน และรักษาชื่อเสียงของการประมงไทย เพราะไทยก็มาไกลเกินกว่าที่จะกลับไปทำการประมงแบบไร้มาตรฐานได้อีก

นอกจากนี้ จากความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาประมง IUU ไทยยังได้ขยายผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปสู่ระดับภูมิภาค เนื่องจากปัญหาประมง IUU ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศรอบบ้านในภูมิภาคในการช่วยกันติดตามสอดส่องเรือประมงที่ทำผิดกฎหมายด้วย โดยไทยได้ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU (ASEAN Network on Combating IUU Fishing) เพื่อสร้าง platform แบบเรียลไทม์ ให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างทันการ โดยเฉพาะในการเฝ้าระวังเรือที่ทำผิดกฎหมาย โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียนแล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563

...

6. การแนะนำภาคการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ทำการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นหลักประกันคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิต ป้องกันการลอกเลียนแบบ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งในยุโรปประสบความสำเร็จมีการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์หลากหลายโดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร ไวน์ เครื่องดื่ม อาทิ ไก่เมืองเบรสต์ แชมเปญ เนยแข็ง ParmigianoReggiano (Parmesan) ทำให้สินค้า GI มีราคาสูงกว่าสินค้าที่ไม่มี GI รับรองกว่า 2 เท่าตัวปัจจุบัน

เอกอัครราชทูตมนัสวี : ปัจจุบัน สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย มีจำนวน 130 รายการ ทั้งสินค้าเกษตร หัตถกรรม โดยตัวอย่างสินค้าที่เป็นที่รู้จัก เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ซึ่งทั้ง 4 รายการนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protected Geographical Indication) ในสหภาพยุโรปด้วยแล้ว นอกจากนั้น ก็มีสินค้าอื่นๆ เช่น ทุเรียนนนท์ หอยนางรมสุราษฎร์ธานี ศิลาดลเชียงใหม่ ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ หรือขนมหม้อแกงเมืองเพชร เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นกระบวนการที่ต้องยื่นขอในแต่ละประเทศ ดังนั้น ในชั้นนี้การขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ตามกฎหมายไทย ไม่มีผลในต่างประเทศ หากต้องการให้มีผลในสหภาพยุโรป ก็จะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนกับสหภาพยุโรป โดยสามารถติดต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เพื่อขอรับคำแนะนำในเรื่องนี้ได้ หากในอนาคต ไทยกับสหภาพยุโรปเริ่มการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างกันอีกครั้ง คาดว่าจะมีการหารือเรื่องนี้เพื่อทำให้สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ของซึ่งทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญได้รับความคุ้มครองในสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ เท่าที่ทราบ FTA ระหว่างอียูกับเวียดนาม สหภาพยุโรปจะคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ของเวียดนาม รวม 39 รายการ ในขณะที่เวียดนามจะคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ของอียูรวม 169 รายการ การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์จึงถือเป็นประโยชน์ และประเด็นสำคัญอีกประการที่คงจะมีการหยิบยกขึ้นในการเจรจา FTA