ปธน.ทรัมป์ประกาศระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) สินค้านำเข้าจากไทยอีก 817 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ 30 ธ.ค.นี้ อ้างไทยไม่มีความคืบหน้าเรื่องเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ

เว็บไซต์ Voanews รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ต.ค.63 ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้านำเข้าจากประเทศไทย เป็นจำนวนเงินประมาณ 817 ล้านดอลลาร์ หรือราว 25,327 ล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 31 บาท) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยอ้างว่าเป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในเรื่องกระบวนการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา

การประกาศจะระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐฯต่อสินค้านำเข้าจากไทยล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศระงับ GSP สินค้านำเข้าจากไทยไปแล้ว 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40,300 ล้านบาท

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ

...

ขณะที่ สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative's office) หรือ USTR ระบุรายชื่อผลิตภัณฑ์สินค้านำเข้าจากไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ล่าสุดนี้ ยังรวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด อาหารอบแห้งบางชนิด และเครื่องครัวอลูมิเนียม

ทำเนียบขาวได้เผยแพร่จดหมายทางการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ส่งถึง นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในการดำเนินการตัดสิทธิ GSP สินค้านำเข้าจากไทย หลังจากกระบวนการเจรจากับไทยในการเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯที่ดำเนินมากว่า 2 ปีไม่มีความคืบหน้า และการให้สิทธิด้านแรงงานในประเทศไทยก็ยังไม่เพียงพอ

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เขียนจดหมายแจ้งกับนางเพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯสหรัฐฯด้วยว่า ตนได้พิจารณาแล้วพบว่า ไทยไม่ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและสมเหตุสมผล

Voanews ระบุว่า การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐฯนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อต้องการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพัฒนาสิทธิของแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ รวมทั้งการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ

ขณะที่สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ได้ปิดการตรวจสอบคุณสมบัติ GSP ที่ไม่สูญเสียผลประโยชน์สำหรับ จอร์เจีย อินโดนีเซีย และอุซเบกิสถาน รวมทั้งยังมีการเปิดทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่เอริเทรีย ประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก บนพื้นฐานความกังวลในเรื่องสิทธิของแรงงาน.