เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาดาวเทียมขนาดเทียบเท่าได้กับเตาปิ้งขนมปังหรือที่เรียกว่าคิวบ์แซต (CubeSat) เพื่อใช้สำรวจความลึกลับของจักรวาล โดยเฉพาะสังเกตเศษซากจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่เรียกว่าซุปเปอร์โนวาที่มีขนาดใหญ่

ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะมาจากโครงการที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือองค์การนาซาให้การสนับสนุน มีชื่อว่า Super nova Remnants and Proxies for ReIonization Testbed Experiment (SPRITE) นำการทำงานโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์บรรยากาศและอวกาศของมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ คิวบ์แซตมีความยาวกว่า 0.3 เมตร น้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม กำหนดเปิดตัวในปี พ.ศ.2565

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า คิวบ์แซตจะรวบรวมข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนจากดวงดาวและซุปเปอร์โนวาในยุคปัจจุบัน เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของจักรวาลที่เรียกว่า Epoch of Reionization เป็นช่วงที่ดาวดวงแรกของจักรวาลเกิดเติบโตอย่างรวดเร็วและยากลำบาก จากนั้นก็กลายเป็นซุปเปอร์โนวาในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ล้านปี.

(ภาพจาก : Laboratory for Atmospheric andSpace Physics (LASP))