สหภาพยุโรปเริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายกับสหราชอาณาจักรแล้ว เนื่องจากฝ่ายหลังไม่ยอมล้มเลิกแผนการออกกฎหมายที่ทำให้พวกเขาลบล้างเงื่อนไขบางอย่างในข้อตกลงเบร็กซิตได้

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) เริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อสหราชอาณาจักร (UK) แล้วในวันพฤหัสบดีที่ 1 ต.ค. 2563 ด้วยการส่ง ‘จดหมายแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ’ ถึงอังกฤษ เพื่อต่อต้านร่างกฎหมาย ‘ตลาดภายใน’ ที่อังกฤษต้องการจะออก โดย EU ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้อังกฤษสามารถลบล้าง หรือก้าวข้าม เงื่อนไขบางอย่างในข้อตกลงถอนตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ได้

กฎหมายตลาดภายในของอังกฤษมีขึ้นเพื่อวางกฎการบริหารตลาดภายในสหราชาอาณาจักร ซึ่งก็คือการค้าระหว่าง อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ หลังจากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการถอนตัวจากสหภาพยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมปีหน้า โดยมีข้อกำหนดว่า จะไม่เพิ่มมาตรการใหม่ในการตรวจสอบสินค้าที่ถูกส่งจากไอร์แลนด์เหนือไปยังพื้นที่อื่นๆ ของสหราชอาณาจักร, มอบอำนาจแก่รัฐมนตรี UK เพื่อแก้ไข หรือยกเลิก กฎที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จะบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 หาก UK กับ EU ไม่สามารถเห็นชอบตัวเลือกอื่นๆ ในข้อตกลงการค้าได้ และรัฐบาลมีอำนาจในการลบล้างข้อตกลงที่เห็นชอบก่อนหน้านี้ในเรื่องความช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการของรัฐบาลสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ กฎหมายฉบับนี้ยังเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า อำนาจเหล่านี้ยังมีผลแม้ว่าจะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

เออร์ซูลา ฟอน แอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC)
เออร์ซูลา ฟอน แอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC)

...

นางเออร์ซูลา ฟอน แอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีระบุว่า กฎหมายตลาดภายในดังกล่าวละเมิดเงื่อนไขในมาตรา 5 ของข้อตกลงเบร็กซิต และละเมิดข้อกำหนดไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) ซึ่งมีขึ้นเพื่อป้องกันการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด (hard border) อย่างร้ายแรง ขณะที่โฆษกรัฐบาลอังกฤษตอบโต้ว่า กฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องการค้าระหว่างพื้นที่ต่างๆ ใน UK

ทั้งนี้ การส่งจดหมายแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ถือเป็นขั้นตอนแรกในการดำเนินการทางกฎหมายต่อประเทศที่พวกเขาเชื่อว่ากำลังละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยในกรณีนี้สหราชอาณาจักรมีเวลา 1 เดือนในการตอบจดหมายเรื่องความกังวลของ EC แต่หากคำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจ พวกเขาก็จะฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ในลักเซมเบิร์ก ซึ่งหากมีคำตัดสินว่าผิดจริง อังกฤษอาจถูกลงโทษด้วยการปรับเงินอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางกฎหมายเช่นนี้มักใช้เวลานานหลายปี ซึ่งอังกฤษมีเวลาเหลือเฟือในการเปลี่ยนท่าทีหรือเจรจาอื่นๆ.