นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ในออสเตรเลีย ได้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีพัฒนาระบบการมองเห็นที่เรียกว่าไบโอนิก อาย (Bionic Eye) ที่ปลอดภัยและทำงานได้ตรงเป้าหมายอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำงานโดยไม่ต้องผ่านการทำงานของเส้นประสาทตาที่มีความเสียหาย
ไบโอนิก อาย ถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากเส้นประสาทตาที่เสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบบ่อยในอาการตาบอด ความเสียหายของเส้นประสาทตาจะปิดกั้นการส่งสัญญาณสำคัญ โดยปกติจะเดินทางจากเรตินาไปยังศูนย์การมองเห็นในสมอง ระบบไบโอนิก อาย จะทำหน้าที่แทนเส้นประสาทตา อุปกรณ์นี้ประกอบด้วยหมวกคลุมศีรษะที่ควบคุมได้เอง ติดตั้งกล้องในตัวเครื่องส่งสัญญาณไร้สาย มีหน่วยประมวลผลการมองเห็น และซอฟต์แวร์พร้อมกับแผ่นกระเบื้องสี่เหลี่ยมขนาด 9 มม. มีขั้วไฟฟ้าบางๆ ซึ่งจะฝังไว้ที่สมอง กล้องจะจับภาพและส่งต่อไปยังหน่วยประมวลผลการมองเห็นขนาดเท่าสมาร์ทโฟน ข้อมูลนี้จะถูกส่งแบบไร้สายไปยังกระเบื้องสี่เหลี่ยม ที่แต่ละด้านจะมีวงจรที่ซับซ้อนให้เปลี่ยนข้อมูลเป็นพัลส์ไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองด้วยการสร้างรูปแบบการมองเห็นที่รวมจุดแสงได้ถึง 172 จุด ในทางทฤษฎีระบบจะช่วยนำทางให้กับผู้ใช้งาน ทั้งในภายในและภายนอกอาคาร ทำให้ตื่นตัวต่อผู้คนและวัตถุในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม ทีม ได้ทดลองกับสัตว์ประสบความสำเร็จ จึงคาดหวังว่า วันหนึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยฟื้นฟูการมองเห็นให้กับคนตาบอดที่ไม่สามารถรักษาได้ และจะพัฒนาให้ระบบสามารถรักษาอาการบาดเจ็บไขสันหลัง โรคลมบ้าหมู ภาวะซึมเศร้า และโรคอื่นๆอีกมากมายได้.
(ภาพประกอบ Credit : Monash University)