เมื่อ 29 ก.ย. ธนาคารโลกเผยรายงานระบุผลกระทบจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส “โควิด-19” ระบาดทั่วโลก ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลุ่มชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกก้าวย่างช้าที่สุดในรอบกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2510 ทั้งยังผลักดันก่อให้เกิดกลุ่มคนยากจนเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน

ธนาคารโลก สำนักงานใหญ่อยู่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้เติบโตเฉลี่ยเพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอัตราเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรุนแรงตั้งแต่เดือน มี.ค.ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงเหลือเฉลี่ยแค่ 2.0 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกทั้งหมดเศรษฐกิจหดตัวลงเฉลี่ย 3.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการค้าขายและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศก็ลดลงมาก

นอกจากนั้น ธนาคารโลกยังประเมินสถานการณ์ด้านแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้คนต้องตกงานเพราะผลกระทบโควิด-19 จำนวนมาก สถานการณ์จะผลักดันให้เกิดกลุ่มคนยากจนเพิ่มขึ้นอีกจากประมาณ 33 ล้านคน เป็น 38 ล้านคน โดยค่าเฉลี่ยรายได้ของกลุ่มคนยากจนคือ วันละไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 176 บาท

สิ่งที่รัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคต้องแก้ปัญหาคือ ปฏิรูปด้านงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการปกป้องทางสังคม ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและผู้คนตกงานเพื่อพยายามเพิ่มศักยภาพผลผลิตภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของรัฐบาล

วิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งนี้ ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ดังนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศต้องดำเนินนโยบายอย่างฉลาดรอบคอบ ซึ่งจะช่วยผลักดันก่อเกิดการค้าขนาดเล็กและค่อยๆขยายเติบโตขึ้น พร้อมไปกับเร่งขยายมาตรการปกป้องทางสังคม เพื่อให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนยากจนและธุรกิจขนาดเล็ก.

...