รอยเตอร์ เผยแพร่รายงานพิเศษ ตีแผ่เบื้องหลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทเอกชน พยายามเคลื่อนไหวล็อบบี้อย่างหนักให้รัฐบาลไทยถอนคำสั่งแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช "ไกลโฟเซต" เมื่อปีที่แล้ว
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่รายงานพิเศษ "Exclusive: In the weeds - How Bayer, U.S. government teamed up against Thailand's glyphosate ban" เปิดเผยเบื้องหลังกรณีบริษัทไบเออร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ขวางคำสั่งแบนไกลโฟเซตของไทย และปีที่แล้วทางการไทยก็มีคำสั่งระงับการแบน "ไกลโฟเซต" ในการทำเกษตรไปเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่คำสั่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2562 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนตุลาคม เพิ่งมีคำสั่งห้ามใช้เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพของคน
รายงานอ้างอิงเอกสารกว่า 200 หน้า และอีเมลซึ่งบางฉบับเป็นการตอบโต้กันโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กับผู้แทนไบเออร์ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วไบเออร์ กับรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยถอนคำสั่งห้ามใช้ไกลโฟเซต สารเคมีหลักในผลิตภัณฑ์ราวน์อัพ ของบริษัทไบเออร์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชน "ไบเออร์" เข้าถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและนายกรัฐมนตรีไทย
รอยเตอร์ระบุว่า เอกสารเหล่านี้ได้รับมาจากศูนย์ความหลากหลายทางชีววิทยาในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ของสหรัฐฯ ซึ่งคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร และอาศัยอำนาจตามกฎหมายรับรองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยื่นเรื่องขอข้อมูลโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้รับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กับนายจิม ทราวิส ผู้บริหารฝ่ายกิจการรัฐบาลระหว่างประเทศของบริษัทไบเออร์เมื่อปี 2562
...
นอกจากนี้ รอยเตอร์ระบุว่า แม้จะไม่สามารถจะชี้ได้ถึงเหตุผลในการถอนคำสั่งแบน หรืออิทธิพลของการโน้มน้าวในครั้งนี้ แต่มีการยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือกันกรณีไทยจะสั่งห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสารไกลโฟเซต ขณะที่ เอกสารหลายฉบับยังมีบทสนทนาตอนหนึ่งพาดพิงถึง "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้นายจิม ทราวิสมีคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่าจะเป็นผลดีหากทราบว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันการระงับใช้สารเคมีและยังอยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงถึงตัวนายกรัฐมนตรีเพื่อการพูดคุยเจรจาให้ทบทวนแผนระงับใช้สารเคมี
ขณะที่เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นายเท็ด แม็คคินนีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าและกิจการเกษตรระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ไทยระงับการแบนสารเคมีในขณะที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธหลายครั้งที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับหนังสือจากนายแม็คคินนีย์
แม้ว่าไบเออร์จะยืนยันว่า สารไกลโฟเซตมีประวัติการใช้งานทั่วโลกมากว่า 40 ปี และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพทั่วโลกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตของบริษัทไบเออร์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ขณะที่ศูนย์วิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (The World Health Organization-WHO) ระบุในรายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ให้ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่จัดว่ามีแนวโน้มจะเป็นสารเคมีก่อมะเร็ง.
ที่มา: Reuters