การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือระหว่างบุคคล (social distancing) ตามมาตรฐานสากลต้องอย่างน้อย 1 หรือ 2 เมตร ถามว่าช่วยป้องกันหรือควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน บอกยากเหมือนกัน

แต่ถือเป็น 1 ในมาตรการควบคุมโรคที่ทุกประเทศนำไปใช้ควบคู่กับการสวมหน้ากากอนามัยและอื่นๆ

นับแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดครั้งแรกที่อู่ฮั่น เมืองเอกมณฑลหูเป่ยของจีน เมื่อปลายปี 2562 ปัจจุบันแต่ละประเทศทั่วทุกมุมโลก มีทั้งกำลังต่อสู้กับการระบาดรอบแรก (เฟส 1) และการระบาดระลอก 2 (เฟส 2) บ่งบอกว่า แม้จะยึดมาตรการรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยแล้ว แต่การจะควบคุมการระบาดให้อยู่หมัดยังเป็นงานยาก

อย่าว่าแต่แสงที่ปลายอุโมงค์เลย แสงที่ต้นทาง หรือกลางทางยังมองไม่เห็น

เมื่อปากท้องต้องกินต้องใช้ ทางการฟิลิปปินส์ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียน จึงงัดมาตรการเด็ดชนิดที่ยังไม่มีใครหรือประเทศใดทำกันมาก่อน ด้วยการออกกฎระเบียบใหม่โดยกระทรวงคมนาคม

ให้หั่นระยะทิ้งช่วงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ในระบบขนส่งมวลชน

โดยให้ลดระยะห่างเหลือเพียง 75 เซนติเมตร มีผลบังคับใช้วันที่ 14 ก.ย. และยังมีก๊อก 2 หั่นลงอีกให้ระดับการเว้นระยะห่างเหลือเพียง 50 ซม. และ 30 ซม. ในวันที่ 28 ก.ย. และ 12 ต.ค. ตามลำดับ

ควบคู่กับการห้ามพูดคุยและใช้โทรศัพท์บนระบบขนส่งมวลชน

การหั่นระยะห่างให้สั้นลง มุ่งให้ผู้คนเดินทางไปทำมาหากินสะดวกมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว เหตุไวรัสโควิด-19 ทำเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ปีนี้หดตัว 5.5% หรือหดตัวมากที่สุดในรอบ 35 ปี

...

แต่เรื่องนี้ สร้างความห่วงใยให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญและคนในแวดวงการแพทย์ เตือนถึงอันตรายและเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะทำได้ แถมยังทำให้การระบาดระยะแรก (เฟส 1) ที่ร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ยืดเยื้อออกไปอีกไกล

ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งบอกว่าแม้จะสวมหน้ากากอนามัยหรือใส่เฟซชิลด์ แต่การลดระยะการเว้นระยะห่าง ถือว่าอันตราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแต่จะเพิ่ม การฟื้นตัวจากไวรัสที่ตั้งเป้าไว้จะช้าลง

ต้องติดตามกันต่อไปว่าวิธีการนี้ของฟิลิปปินส์จะออกผลลัพธ์เป็นอย่างไร.

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์